FootNote:การตัดสินใจ ในโค้งสุดท้าย ทิศทาง ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Home » FootNote:การตัดสินใจ ในโค้งสุดท้าย ทิศทาง ประยุทธ์ จันทร์โอชา



FootNote:การตัดสินใจ ในโค้งสุดท้าย ทิศทาง ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ข่าวการย้ายขั้วของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และข่าวการย้ายขั้วของ นายจุติ ไกรฤกษ์ ในห้วงโค้งสุดท้ายก่อนยุบสภา อาจเป็นเรื่องปกติยิ่งในทางการเมือง

การเมืองของนักการเมืองประเภท “อยู่เป็น” จำเป็นต้องเลือกหนทางที่ดีที่สุด เพื่อความอยู่รอดและอนาคตในทางการเมือง

เพียงแต่ว่าการตัดสินใจนี้เป็นการตัดสินใจในระดับ “รัฐมนตรี” เพียงแต่ว่าการตัดสินใจนี้ เป็นการตัดสินใจในระดับแกนนำสำคัญของแต่ละพรรคการเมือง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ มีบทบาทและได้รับความไว้วางใจจากพรรคพลังประชารัฐเป็นอย่างสูง

นายจุติ ไกรฤกษ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับความเชื่อมั่นจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล

การเลือกเปลี่ยนขั้วย้ายค่ายไม่ว่าของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ไม่ว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่า นายจุติ ไกรฤกษ์ ครั้งนี้จึงสำคัญและส่งผลสะเทือนสูงในทางการเมือง

ชี้ให้เห็นถึง “ข้อมูล” ที่มีอยู่ ชี้ให้เห็นถึง “วิจารณญาณ”

หากมองจากสภาพการณ์ในทางการเมืองอาจมิได้เป็นเรื่องแปลกที่ นายจุติ ไกรฤกษ์ จะตีจากพรรคประชาธิปัตย์และไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรครวมไทยสร้างชาติ

เพราะด้านหลักภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ล้วนมาจากพรรคประชาธิปัตย์แทบทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ไม่ว่าจะเป็น นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ไม่ว่าจะเป็น นายชุมพล กาญจนะ ไม่ว่าจะเป็น นายวิทยา แก้วภราดัย

ขณะเดียวกัน กรณีของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เหมือนกับการได้กลับไปสู่บ้านเก่า เพราะล้วนเคยอยู่กับพรรคเพื่อไทยมาแล้ว

การตัดสินใจครั้งนี้จึงกำหนดทั้ง “เส้นทาง” และ “อนาคต” ในทางส่วนตัวและพรรคการเมืองไปด้วยในขณะเดียวกัน

ยังไม่มีใครตอบได้ว่าเส้นทางของพรรครวมไทยสร้างชาติจะดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มีใครตอบได้ว่าเส้นทางของพรรคเพื่อไทยจะดีกว่าพรรคพลังประชารัฐ

กระนั้น การเลือกของคนระดับ “รัฐมนตรี” ก็มีผลสะเทือน

เป็นผลสะเทือนในด้านดีให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นผลสะเทือนในด้านดีให้กับพรรคเพื่อไทย และมีผลต่ออนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง

บนฐานแห่งการท้าทายต่อจุดเด่นของ “รัฐธรรมนูญ” ว่ายังเป็นการ “ออกแบบ” มาเพื่อ “ระบอบ” ใดในทางการเมือง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ