FootNote:การกำหนด พื้นที่การชุมนุม บทเรียน จาก “24 มิถุนายน”
แสงแห่งสปอตไลต์กำลังฉายจับไปยังผลของคำประกาศกำหนด 7 จุดพื้นที่รองรับการชุมนุมสำแดงออกทางการเมืองในกรุงเทพมหานครว่าจะดำเนินไปอย่างไร
ตัวอย่างหนึ่งซึ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน คือ การชุมนุมในพื้นที่ลานคนเมือง เสาชิงช้า
ก่อนการชุมนุม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้พบและพูดจากับแกนนำบางส่วน กำชับให้ยืนอยู่บนหลักการให้การชุมนุมปราศจากอาวุธและดำเนินไปภายใต้กรอบที่กำหนด
ยิ่งกว่านั้นเมื่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้าร่วมในกิจกรรมการออกร้านของนักเคลื่อนไหวที่สวยครูองุ่น ภายในซอยทองหล่อ ก็ได้สอบถามถึงการชุมนุมที่เพิ่งผ่านพ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นการพบกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการพบกับกลุ่มมูเตลู และกลุ่มผู้สนับสนุน “สมรสเท่า เทียม” ต่างยืนยันตามข้อตกลงโดยพื้นฐานครบถ้วน
ภาพจากการเคลื่อนไหวและการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน จึงเท่ากับสะท้อน “มิติ” ใหม่ของการชุมนุมที่มีเป้าหมายในการเสนอแนวคิดและความต้องการอย่างเด่นชัด
ยิ่งท่าทีจากทางด้าน “อำนาจรัฐ” ไม่ว่าจะเป็นหน่วยควบคุมฝูงชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลยิ่งน่าสนใจ
ตามปกติแล้วทุกครั้งที่มีการชุมนุมยังไม่ทันที่จะมีการปักหลักอะไรจากมวลชน ภาพแรกที่เห็นคือการเคลื่อนตัวของ “หน่วยควบคุมฝูงชน” พร้อมกับคำประกาศให้ยุติการชุมนุม
กลายเป็นว่า การปรากฏตัวของ “หน่วยควบคุมฝูงชน” นั่นแหละคือสัญญาณแห่ง “ความรุนแรง” ที่จะตามมา
แต่สถานการณ์ตลอดวันที่ 24 มิถุนายน มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เห็นได้จากขบวนแห่ “หมุดคณะราษฎร” จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังเสาชิงช้าดำเนินไปอย่างราบรื่น
ยิ่งกว่านั้น การจัดกิจกรรมที่กำหนดวางเอาไว้ของ “คณะราษฎร” ก็ไม่ถูกสกัดขัดขวาง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยควบคุมฝูงชนก็ตาม
ต่อเมื่อสายฝนกระหน่ำลงมานั้นหรอกจึงค่อยๆสลายตัวไป
ต้องยอมรับว่าการกำหนดพื้นที่การชุมนุม 7 แห่งในกรุงเทพมหานคร ถือเป็นการเริ่มต้นจังหวะก้าวใหม่ในลักษณะอัน เป็นการตกลงร่วมกันในทางหลักการ
กระนั้น ก็มิได้หมายความว่าจะดำเนินไปอย่างแช่แข็งตายตัว
เพราะว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองสัมพันธ์กับเป้าหมายและเป้าหมายมีส่วนในการกำหนด “พื้นที่” อย่างมีนัยสำคัญ
นั่นเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายจะต้องทำความเข้าใจอย่างยืดหยุ่น