FootNote:กรุงเทพมหานคร “ร้อนแรง” คะแนน ประยุทธ์ จันทร์โอชา
มีเพียง 3 พรรคการเมืองเท่านั้น ที่ประกาศความพร้อมทั้ง 33 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยอาจประกาศไปบ้าง แต่ยังไม่ครบทั้ง 33 เขต เช่นเดียวกับพรรคไทยสร้างไทย ได้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครไปแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ครบทั้ง 33 เขต
จำนวน 33 เขตอาจไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับ 400 เขตในขอบเขตทั่วประเทศ แต่จำนวน 33 เขต ก็มีลักษณะเป็นปัจจัยที่จะชี้ขาดทิศทางการเมืองใหญ่ได้เป็นอย่างดี
ในเมื่อผลสะท้อนจากโพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อันถือว่าเป็นสำนักที่ได้รับความเชื่อถือสูงตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มาแล้ว
นั่นก็คือคะแนนนำยังเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร คะแนนที่ ตามมาห่างๆ ยังเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และรวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กระนั้น บรรยากาศและการจัดวางกำลังในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็มีความสำคัญเป็นอย่างสูง
หากมองจากฝ่ายของรัฐบาล ฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่
การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 สะท้อนให้เห็นทางเลือกของคนกรุงเทพมหานครอย่างเด่นชัด จากจำนวน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐกับการสูญพันธุ์ของพรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่การได้รับเลือกของพรรคเพื่อไทยเมื่อประสานเข้ากับพรรคอนาคตใหม่ ก็ยืนหยัดอีกป้อมปราการหนึ่ง
ต้องยอมรับว่าการปฏิเสธพรรคประชาธิปัตย์และการเลือกพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันถึงความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันประสานเข้ากับ “กปปส.”
ความน่าสนใจก็ตรงที่ในการเลือกตั้งใหม่พรรครวมไทยสร้างชาติ แตกตัวออกจากพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกปปส.กระจายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ
ผลก็คือฐานคะแนนที่เคยเทให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กระจัดกระจาย กลายเป็นเบี้ยหัวแตก แหลกตามไปด้วย
หากมองแนวโน้มการเลือกตั้งในขอบเขตทั่วประเทศ ก็สัมผัสได้ในคะแนนและความนิยมที่ทะยานยิ่งของพรรคเพื่อไทย ตามมาโดยพรรคก้าวไกล อันถือได้ว่าเป็นพันธมิตรในแนวร่วมฝ่ายค้าน
ฝ่ายของรัฐบาลอาจมีที่กรุงเทพมหานครและภาคใต้
ฝ่ายของรัฐบาลเกิดการแย่งชิงคะแนนระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ผลการเลือกตั้ง 33 เขตในกรุงเทพมหานครจึงมีความสำคัญ