FootNote:กระบวนท่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แปรจาก “ตั้งรับ” เข้าสู่แนว “รุก”
ในฐานะอันเป็นฝาย “รุก” ทันทีที่ตัดสินใจเล่นงาน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ว่าในเรื่อง “งานศพพ่อ” ไม่ว่าในเรื่องความสัมพันธ์ใน อดีตของ “ครอบครัว” ไม่ว่าในเรื่อง “ถือหุ้นไอทีวี”
เมื่อมองจากบางส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อมองจากองค์ประกอบภายใน 250 ส.ว.มากด้วยความมั่นใจ
มั่นใจว่าการหยิบยกเรื่อง “งานศพพ่อ” ประสานเข้ากับการขุดคุ้ยภาพความสัมพันธ์ระหว่าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับภรรยาในกาลอดีตน่าจะเป็น “หมัดเด็ด” ในทางการเมือง
กระนั้น เมื่อประสบเข้ากับ “กระแส” ความนิยมต่อพรรคก้าวไกล โดยมีท่วงทำนองของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแม่เหล็กและดูดดึงอย่างครึกโครมจากเหนือตกใต้ จากออกถึงตก
จึงจำเป็นต้องงัดเอากรณีเก่าเก็บภายใต้การล่มสลายของไอทีวีตั้งแต่ปี 2550 หลังสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาเป็นอาวุธมาเป็นเครื่องมือ
ดำรงสถานะแห่งการ “รุก” หวังจะก่อภาวะปั่นป่วนภายในพรรคก้าวไกล ทำลายสมาธิในการเคลื่อนไหวของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
โดยลืมไปว่าภายในการรุกหากมีการตั้งรับที่หนักแน่นวิกฤตก็อาจกลายเป็นโอกาส
ฝ่ายที่กำลังรุกมองข้ามความล้มเหลวอย่างไม่เป็นกระบวนจากกรณี “งานศพพ่อ” และมองข้ามความล้มเหลวอย่างไม่เป็นกระบวนจากกรณีรอยร้าวในครอบครัวในอดีต
พลันที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ งัดหลักฐานออกมายืนยันชัดแจ้ง พลันที่ ต่าย ชุติมา ออกมายืนยันสายสัมพันธ์ที่ดีและงดงาม
ความน่าเชื่อถือต่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จำหนักหนักแน่น และกลายเป็น “กระดานหก” ยิ่งทำให้ “กระแส” ซึ่งจุดติดอยู่แล้วดำเนินไปอย่างพุ่งทะยาน
บทเรียนจากกรณี “งานศพพ่อ” บทเรียนจากกรณี “สายสัมพันธ์ในครอบครัว” กำลังได้รับการนำไปพิสูจน์ทราบอีกครั้งจากกรณีของ “หุ้นไอทีวี”
ความเห็นอกเห็นใจเริ่มแปรเป็น “คะแนน” และความนิยม
ในเบื้องต้นบทบาทของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เหมือนกับเป็นฝ่ายรุก ตามเจตจำนงของผู้ที่มุ่งมาดปรารถนา ในเบื้องต้นท่วงท่าในแบบ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อาจสร้างความสนใจ
ให้กับคนที่ต้องการสกัด นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้งันชะงัก
แต่ภายในการรุก หากอีกฝ่ายสามารถตั้งรับด้วยพื้นฐานอันมีความพร้อม และด้วยสำนึกอันเต็มเปี่ยม ก็สามารถแปรจากการตั้งรับกลายเป็นการรุกกลับอย่างมีกัมมันตะ
หากรู้จักขี่ “กระแส” ไปสู่อีกระแสเพื่อกุม “ชัยชนะ” มาอยู่ในมือ