FootNote:กระบวนการ คัดสรร นักการเมือง ผ่านโพล เวทีดีเบต ชิง “ผู้ว่าฯกทม.”
ยิ่งกระบวนการ “ดีเบต”ทางการเมืองงวดเข้ามาและใกล้ถึงวันอาทิตย์ ที่ 22 พฤษภาคม มากเท่าใด จำนวนของ “แคนดิเดต”ต่อตำแหน่ง “ผู้ว่าฯกทม.”ยิ่งเหลือน้อยลง
ด้านหนึ่ง เพราะว่าสถานการณ์ “ดีเบต”ก่อให้เกิดการคัดสรรกลั่นกรอง ด้านหนึ่ง คะแนนและความนิยมเริ่มแจ่มชัด
เห็นได้จากจากจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 31 คนในเบื้องต้นอาจคึกคักอย่างยิ่งจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ตามมาด้วย นายสกลธี ภัททิยกุล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร น.ต.ศิธา ทิวารี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ล้วนได้รับเชิญให้ประชันวิสัยทัศน์อย่างพร้อมเพรียงกัน
จากนั้น น.ส.รสนา โตสิตระกูล ก็ค่อยหลุดไปจากวงจรคงเหลือ และมีการจัดกลุ่มเป็น 2 กลุ่มโดยกลุ่มแรก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อยู่
ในฐานะผู้นำ กลุ่มหลัง มีพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อยู่ในฐานะผู้นำ
โดยมี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร น.ต.ศิธา ทิวารี และ นายสุชัช วีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายสกลธี ภัททิยกุล เป็นองค์ประกอบ
ความน่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ ในการแบ่งกลุ่มเช่นนั้นได้นำไปสู่การออกโรงอย่างเป็นแพ็คเกตโดยอัติโนมัติ ในบางช่องบางสื่อที่สะท้อนกลุ่มความคิดในทางการเมือง
กลุ่มหนึ่งก็เอาแต่ซีกของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กลุ่มหนึ่งก็เอาแต่ซีกของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
กระนั้น ยิ่งใกล้วันที่ 22 พฤษภาคม การคละเคล้าของผู้สมัคร ผ่านการคัดสรรของเวทีดีเบตก็เริ่มสะท้อนให้เห็นการแยกตัวแบ่งฝ่ายเด่นชัดทั้งในด้านความคิดและในด้านความนิยม
กลายเป็นการดีเบตระหว่าง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร น.ต.ศิธา ทิวารี และมี นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ด้วย
ชื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง นายสกลธี ภัททิยกุล หายไป อาจกล่าวได้ว่าคะแนนและความนิยมไม่ว่าจะแสดงออกผ่านโพล และที่สำแดงผ่านเวทีดีเบตก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการเปรียบเทียบและประเมิน
คำตอบสุดท้ายและแท้จริงยังขึ้นอยู่กับวันที่ 22 พฤษภาคม กระนั้น การคัดสรร การตัดสินใจและภาพที่ปรากฏผ่านโพล ผ่านเวทีดีเบตก็ค่อยคัดสรรและกลั่นกรองออกมาให้เห็น
เท่ากับสะท้อนถึงสภาวะขึ้นลง ไม่แน่นอนทางการเมือง