FootNote:สถานะ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวงจร ปัญหา ความขัดแย้ง
เมื่อทุกคำถามอันดังกึกก้องขณะนี้ ล้วนรวมศูนย์ไปยังกำหนดเวลา 8 ปี ในการดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การเคลื่อนไหว “อื่น” จึงเงียบสงบ
ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
ที่เคยมีข่าวว่าอาจมีความพยายามกดดันให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปแทนที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในตำแหน่งรัฐ มนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ยุติลง
ที่เคยมีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ อาจมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ค่อยๆ เงียบและไม่มีการเคลื่อนไหว
เป็นความเงียบในท่ามกลางการรอคอยเนื่องจากบทสรุปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือให้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาด โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ความเงียบไม่ว่าจะดำรงอยู่ในรัฐบาล ไม่ว่าจะดำรงอยู่ภายใน “กลุ่ม 3 ป.” ไม่ว่าจะเป็นการดำรงอยู่ภายในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะดำรงอยู่ภายในพรรคร่วมฝ่ายค้าน
จึงแตกออกเป็น 2 แนว นั่นคือ ไปต่อหรือสิ้นสุดลง
ความน่าสนใจอาจสัมผัสได้จาก 2 # ซึ่งดำรงอยู่ในโลกแห่งโซเชียล มีเดีย นั่นก็คือ #ลุงตู่ไปต่อ กับ #นายกเถื่อน อันสะท้อน มุมมองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในทางความคิด ทางการเมือง
ความแหลมคมอย่างที่สุดอยู่ที่ “ปรากฏการณ์” นี้สะท้อนปัญหา อันมาแต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคม
ทั้งๆที่เป้าหมายหลักในการตัดสินใจก่อรัฐประหารขึ้นไม่ว่า จะเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือจัดการกับปัญหาและความขัดแย้ง แตกแยก
ผ่านมาเป็นเวลา 16 ปี จากเมื่อเดือนกันยายน 2549 ผ่านมา เป็นเวลากว่า 8 ปี จากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ความขัดแย้งแตกแยกก็ยังดำรงอยู่
ความรุนแรงและแหลมคมอย่างเหลือเชื่อก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นปัจจัยแห่งความขัดแย้งเสียเอง
ในเมื่อหัวหน้าคสช. ซึ่งเคยมีส่วนร่วมในรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และเป็นผู้กระทำการรัฐประหารด้วยมือตนเองในเดือนพฤษภาคม 2557 กลายเป็นตัวการแห่งความขัดแย้ง
คำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จึงไม่น่าเป็น “คำตอบ”
ตรงกันข้ามคำวินิจฉัย กลับจะยิ่งทำให้ปมแห่งความขัดแย้ง ขยายกลายเป็นปัญหาที่ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น
คำถามก็คือ สังคมไทยจะรอดพ้นจากปัญหานี้ได้อย่างไร