FootNote:บทสรุป ร่วมกัน กรณี ‘จะนะ’ การปราบปราม มิใช่ ทางออก

Home » FootNote:บทสรุป ร่วมกัน กรณี ‘จะนะ’ การปราบปราม มิใช่ ทางออก


FootNote:บทสรุป ร่วมกัน กรณี ‘จะนะ’ การปราบปราม มิใช่ ทางออก

FootNote:บทสรุป ร่วมกัน กรณี ‘จะนะ’ การปราบปราม มิใช่ ทางออก

กรณีของ ‘จะนะรักษ์ถิ่น’ กำลังกลายเป็นบทเรียนอันทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

พลันที่มติครม.ออกมาในแนวทางเดียวกับข้อเสนอ ‘ชาวบ้าน’

แม้ว่าการยอมถอยของรัฐบาล และไปตั้งต้นใหม่ภายใต้ความรับผิดชอบดำเนินการโดย สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศส.) จะสะท้อนกระบวนการ ‘ซื้อเวลา’

กระนั้น การซื้อเวลาของรัฐบาล ก็มิได้เป็นการซื้อเวลาภายใต้ลีลาและอาการแบบเดิม เพราะรับเอาข้อเสนอจาก ‘ชาวบ้าน’ เข้ามาอย่างครบถ้วนและส่งผลให้การชุมนุมจบลงอย่างรวดเร็ว

เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายว่า มาตรการปราบปรามเข้าสลายและจับกุมด้วยกำลัง และความรุนแรงของหน่วยควบคุมฝูงชน ที่เห็นในกลางดึกของคืนวันที่ 6 ธันวาคมนั้นไม่ถูกต้อง

การหันหน้าเข้าหากัน เปิดพื้นที่ให้กับ ‘ชาวบ้าน’ ยอมรับต่อข้อเสนอของชาวบ้านต่างหากอันเป็นแนวทางประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมต่างหากที่ถูกต้องและเป็นธรรมมากกว่า ตรงนี้เองจึงสร้างความมั่นใจให้กับกรณีบางกลอย และนาบอน

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์รุนแรงที่รัฐบาลนำมาใช้ผ่านกระบวนการ สลายและเข้าจับกุมโดยกำลังจากหน่วยควบคุมฝูงชนเข้าลักษณะรักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ

นั่นก็คือ แทนที่เรื่องจะจบ ตรงกันข้าม ความรุนแรงนั่นแหละทำให้เกิดการบานปลาย

และเมื่อบานปลายฝ่ายที่ตกเป็นจำเลยก็คือ ‘อำนาจรัฐ’

กล่าวสำหรับ ‘จะนะรักษ์ถิ่น’ ก็ได้รับการหนุนเสริมอย่างกว้างขวางจากหลายกลุ่มในพื้นที่ และรวมทั้งจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลายเป็นพลานุภาพในทางการเมืองและกลายเป็นความบันดาลใจให้ชาวบางกลอย ชาวนาบอน บังเกิดความมานะและนำบทเรียนไปขยายผลในการต่อสู้

ไม่ว่าจะมองจากด้านของรัฐบาลที่กุมกลไกอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะมองจากด้านของชาวบ้านซึ่งถูกกระทำอย่างต่อเนื่องจากผลสะเทือนของ รัฐราชการที่รวมศูนย์จากส่วนกลาง

ล้วนมีความจำเป็นในการสรุปและเป็น ‘บทเรียน’ ออกมา

เพราะหากอำนาจรัฐไม่สรุปการผลิตซ้ำในแบบเดียวกันก็ไม่สิ้นสุด การประท้วงในลักษณะเดียวกันก็จะเกิดขึ้น

กลายเป็นชะตากรรมที่ชาวบ้านมิอาจหลีกเลี่ยงได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ