FootNote:ทำไม 7 งูเห่า จาก “เพื่อไทย” จึงเด่นในแสง “สปอตไลต์”
จำนวน 278 เสียงที่รับร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ.2566 ครั้งนี้ ทางหนึ่ง สร้างความพอใจให้กับรัฐบาล อีกทางหนึ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับฝ่ายค้าน
และความเจ็บปวดอย่างล้ำลึกถึงที่สุดกลับเป็น 7 ส.ส.ซึ่งมาจากเป็นของพรรคเพื่อไทย
ความเจ็บปวดนี้หากวัดจากที่สะท้อนออกผ่านการเปิดเผยข้อมูลโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน นับว่าลึกซึ้งแต่ก็ไม่ปฏิเสธสภาพความเป็นจริง
แม้ภายในจำนวนที่ไปยกมือให้กับรัฐบาลจะมีคนของพรรคก้าวไกลปรากฏอยู่ แต่ก็รับรู้กันว่า 4 คนนี้แปรเปลี่ยนตั้งแต่ยังอยู่ในสังกัดพรรคอนาคตใหม่แล้ว มิได้เป็นข้อมูลใหม่
ขณะที่จำนวน 7 คนของพรรคเพื่อไทย จำนวนหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ อาจเปิดเผยร่องรอยให้เห็น แต่ที่มาจากอุดรธานีและนครนายก แม้จะเคยคาดหมายแต่ไม่นึกว่าจะเป็นอย่างนี้
กล่าวสำหรับพรรคเพื่อไทยอุบัติการณ์แห่งงูเห่าในภาคอื่น มิได้เหนือจากการประเมินเท่าใดนัก แต่ที่ปรากฏในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับว่ามีแรงสะเทือน
เนื่องจากเป้าหมายในยุทธศาสตร์ “แลนด์สไลด์” ยังเน้นหนักแน่นอยู่กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
ความละเอียดอ่อนในทางการเมืองที่สมควรพิจารณายังอยู่ที่ท่าทีของระดับนำพรรคเพื่อไทยที่เล่นไปตามบท ซึ่งบางส่วนจากรัฐบาลดำเนินการอย่างแยบยล
ไม่ว่าจะเป็นบทจากสิ่งที่เรียกว่า “กลุ่ม 16” ไม่ว่าจะเป็นบทที่มาจากพรรคเศรษฐกิจไทย
ความเย้ายวนในทางการเมืองเหล่านี้ไม่น่าเชื่อว่าถึงกับระดับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ออกมาเต้น ด้วยตนเอง มิได้เป็นเรื่องในระดับรองๆลงไป
เพราะการออกแอ็คชั่นของระดับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการ พรรคนั้นเองก่อให้เกิดรูปการณ์ทางความคิดที่บิดเบี้ยวในทางการเมืองอย่างเหลือเชื่อตามมา
และเมื่อเกิดปรากฏการณ์ “งูเห่า” จึงถึงกับมีอาการ “ช็อค”
สายตาที่มองไปยังพรรคเพื่อไทยย่อมโยงยาวไปยังความจัดเจน ที่สะสมมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จึงเป็นสายตาแห่งความคาดหวัง
เป็นความคาดหวัง “สู้เป็น” อย่างที่ นายสุทิน คลังแสง สรุป หากจังหวะก้าวของวีรชนหาญกล้าในการสัประยุทธ์ทางการเมือง ดำเนินไปอย่างที่เห็นก่อนวันที่ 2 มิถุนายนก็ไม่แน่ว่าจะพลัดลงไปใน “กับดัก” ของอีกฝ่ายหรือไม่ อย่างไร
นั่นก็ขึ้นอยู่กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จะตกผลึกอย่างไร