FootNote:คำถามภายในประชาธิปัตย์ ถามถึง สถานะแห่ง “สถาบัน”
อาฟเตอร์ช็อกทางการเมืองอย่างที่เรียกว่า “ปริญญ์ เอฟเฟกต์” ได้ก่อให้เกิดคำถามอันแหลมคมยิ่งต่อความเป็น “สถาบัน” ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายของ “ประชาธิปไตยสุจริต” ซึ่งเสนอขึ้นโดย นายชวน หลีกภัย อย่างจำหลักหนักแน่น
ยิ่งระยะหลัง ไม่ว่าการลาออกของ นายวิทยา แก้วภราดัย ไม่ว่าการลาออกของ นายกนก วงศ์ตระหง่าน เหตุผลอยู่ที่ 1 ความหมายของ “ประชาธิปัตย์” และ 1 อยู่ที่สำนึกแห่ง “ศีลธรรมจรรยา”
คำถามที่ตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ คำว่า “ศีลธรรมจรรยา” และสำนึกแห่ง “ประชาธิปัตย์” จะจำกัดอยู่เพียงกรณีของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ เท่านั้นหรือ
คำถามนี้ได้รับการเน้นอย่างหนักแน่นและจริงจังจากรูปธรรม แห่งการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และการลาออกจากสมาชิกภาพแห่งส.ส.ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สำนึกแห่ง “ประชาธิปไตยสุจริต” มิได้แวดล้อมกรณี นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ เท่านั้น หากแต่อยู่ที่ความเป็น “ประชาธิปัตย์” ต่างหาก
ต้องยอมรับว่าเส้นทางของพรรคประชาธิปัตย์ภายหลังการแสดงสปิริตของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกจากหัวหน้าพรรค ลาออกจากสมาชิกภาพแห่งความเป็นส.ส.สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
นั่นก็คือ เส้นทางที่หลอมละลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนที่ขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
เพื่อแลกกับอามิสบรรณาการในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งประธานรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่แจกจ่ายแบ่งปันกันตามที่มาดหมาย
สถานการณ์นับแต่เดือนมิถุนายน 2562 คือการสะสมปัญหา และความขัดแย้งและค่อยๆ ปรากฏผ่านการแยกตัว กระทั่งรุนแรง จากกรณีของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ในเดือนเมษายน 2565
กรณีของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ เสมอเป็นเพียงใยสุดท้าย ที่ไม่เพียงแต่ทำให้เห็นโฉมหน้าแท้จริงของพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน หากแต่ยังเป็นตัวจุดชนวนแห่งความแคลงคลางกังขา
เหมือนกับจะแคลงคลางกังขาต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
หากแต่แท้จริงแล้วคือ ความไม่แน่ใจในสถานะแห่งความเป็น “สถาบัน” ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ว่าดำรงอยู่อย่างไร
เป็นคำถามทาง “จริยธรรม” ถามถึง “ประชาธิปไตยสุจริต”