เหตุกราดยิงพารากอนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคมเป็นอย่างมาก ก่อเกิดเป็นการวิพากษ์ถกเถียงเรื่องแรงจูงใจที่ทำให้เด็กอายุ 14 ปีคนหนึ่ง กล้าที่จะจับปืนมายิงคนแปลกหน้า ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยคือเรื่อง “Femicide” หรือพฤติกรรมจงใจฆาตกรรมผู้หญิง เมื่อตัวเลขของผู้ถูกยิง 6 ใน 7 คน คือผู้หญิง ที่ต่างสัญชาติ อายุ และที่มาที่ไป
- 6 ใน 7 ของเหยื่อกราดยิงพารากอน เป็น “ผู้หญิง” สิ่งนี้คือ “Femicide” หรือเปล่า?
- สรุปเหตุ “กราดยิงพารากอน” เรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดขึ้นแล้ว!
Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จักกับคำว่า Femicide ภาวะอันตรายที่เกิดจากเหตุแห่งเพศ ที่ไม่มีใคร “ปลอดภัย” เลยสักคน
Famicide คืออะไร
ก่อนจะทำความรู้จัก Femicide เราควรรู้จักคำว่า “ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ” หรือ Gender-based violence ซึ่งมีความหมายถึงพฤติกรรมความรุนแรงที่มีสาเหตุจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยเหยื่อถูกกระทำความรุนแรงเพราะ “เพศสภาพ” ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง เพศชาย หรือ LGBTQ+ แต่จากสถิติทั่วโลกก็ชี้ว่า ผู้หญิงและเด็กจะมีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
Getty Images
นอกจากความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศ การค้ามนุษย์แล้ว “Femicide” หรือภาษาไทยใช้คำว่า “อิตถีฆาต” ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่ผู้หญิงเผชิญ ซึ่ง Femicide มีความหมายถึง “การฆ่าเพราะว่าเป็นเพศหญิง” เป็นพฤติกรรมที่มีปัจจัยทางเพศเป็นหนึ่งในแรงจูงใจ และเป็นการเจตนาทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุมักจะเป็นผู้ชาย
สาเหตุที่นำไปสู่การฆ่าผู้หญิง
ในหลายพื้นที่ทั่วโลกจะพบว่ามีการ Femicide เพื่อรักษาเกียรติหรือศักดิ์ศรีของครอบครัว ซึ่งคนลงมือจะเป็นพ่อ พี่ชาย น้องชาย หรือคนในครอบครัว โดยฆาตกรมีความเชื่อว่า “ผู้หญิงเป็นทรัพย์สินที่สามารถครอบครองได้” หรือมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เชื่อมโยงกับเพศ
การอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic relationship) ก็เป็นอีกสาเหตุที่นำไปสู่ Femicide ได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากข่าวดังมากมายที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้าย เช่น ข่าวดังของ “จีจี้” เน็ตไอดอลสาว ที่ถูกลูกชายอดีตทหารยศใหญ่ยิงเสียชีวิต เป็นต้น
นอกจากนี้ Femicide ยังอาจเกิดจากแรงจูงใจอื่นๆ ได้ เช่น การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ความรุนแรงในครอบครัว บทบาททางเพศแบบเหมารวม ความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) ไปจนถึงความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny) เป็นต้น
Getty Images
การยุติ Femicide
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยุติ Femicide ดูจะเป็นเรื่องยากในสังคม เพราะมันมักจะมาพร้อมกับการสั่นคลอนมายาคติและกรอบความคิดเรื่องเพศ ที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบความคิดและความเชื่อของคนในสังคม การเปลี่ยนแปลงกฎหมายจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการปลุกจิตสำนึกของคนในสังคม
หลายหน่วยงานของไทยก็มีความพยายามที่จะผลักดันนโยบายที่จะทำให้เกิดการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ คุ้มครองสิทธิ และขจัดการเลือกปฏิบัจิด้วยเหตุแห่งเพศ ทั้งนี้ ในทุกปี หน่วยงานต่างๆ ก็ออกมารณรงค์ให้ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังขาดองค์ประกอบหลายอย่างที่จะใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องกฎหมาย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในประเด็นดังกล่าว การดูแลจัดการที่ล่าช้า รวมไปถึงค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” ที่ยังมีการส่งต่อความเชื่อนี้จากรุ่นสู่รุ่นอยู่เช่นเดิม