Dunkman : รองเท้าของ "แชค" ที่ก็อป Air Jordan มาทั้งดุ้น แต่ขายได้มากกว่าร้อยล้านคู่

Home » Dunkman : รองเท้าของ "แชค" ที่ก็อป Air Jordan มาทั้งดุ้น แต่ขายได้มากกว่าร้อยล้านคู่



Dunkman : รองเท้าของ "แชค" ที่ก็อป Air Jordan มาทั้งดุ้น แต่ขายได้มากกว่าร้อยล้านคู่

รองเท้า กับ นักบาสเกตบอล คือสิ่งที่ขาดกันไม่ได้ เหล่านักแม่นห่วงซูเปอร์สตาร์ล้วนต้องมีรองเท้าคู่ใจอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ให้แฟน ๆ จดจำได้ รวมถึงเป็นหนึ่งในวิธีหารายได้เข้ากระเป๋าตัวเอง

ไมเคิล จอร์แดน, เลบรอน เจมส์, โคบี ไบรอันท์, เควิน ดูแรนท์, สเตฟเฟน เคอร์รี, รัสเซล เวสต์บรูค, ยานนิส อันเททูคูมโป คือตัวอย่างนักบาสชื่อดัง ที่มีรองเท้าเป็นคอลเลคชั่นพิเศษของตัวเอง ที่ใส่ตัวตน เอกลักษณ์ของแต่ละคนลงไปในรองเท้า และนำออกวางจำหน่าย จนเป็นที่นิยมของแฟนบาสทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม มีนักบาสคนหนึ่งที่มีความคิดแตกต่างออกไป นั่นคือ แชคีล โอนีล ตำนานชื่อดัง ที่ทำรองเท้าของตัวเอง โดยไม่มีเอกลักษณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น แถมยังก็อปลวดลายรองเท้า มาจากคอลเลคชั่นสุดโด่งดัง อย่าง Air Jordan อีกต่างหาก

 

แม้ว่าการก็อปปี้แบบดื้อ ๆ ของ “แชค” จะทำให้เขาโดนล้อเลียนจากแฟนบาสทั่วโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่า รองเท้าจีนแดงของแชค สามารถขายได้มากกว่า 150 ล้านคู่ในสหรัฐอเมริกา !

ต้นกำเนิดรองเท้าที่ทุกคนเป็นเจ้าของได้

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นในปี 2004 เนื่องจาก Payless บริษัทรองเท้าที่เน้นจำหน่ายสินค้าราคาถูก ต้องการทำรองเท้าบาสเกตบอลของตัวเองออกจำหน่าย เพื่อตอบรับกระแสรองเท้าบาสที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น


Photo : www.vox.com

Payless มองเห็นถึงช่องว่างของตลาด ที่ไม่มีแบรนด์เสื้อผ้าเจ้าไหน ทำรองเท้าบาสราคาถูกออกมาจำหน่าย ซึ่ง Payless ต้องการจะเข้าไปเขมือบตลาดที่ว่างอยู่ตรงนี้ แถมไม่ต้องแย่งตลาดกับแบรนด์ระดับโลก อย่าง อาดิดาส, ไนกี้ หรือ รีบ็อค อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทำรองเท้าราคาถูกออกมาขาย แล้วทุกคนจะหันมาตอบรับ เพราะในวงการบาสเกตบอล การจะขายรองเท้าสักคู่ ก็ต้องพึ่งพลังซูเปอร์สตาร์ ดังนั้น Payless จึงจำเป็นต้องหานักบาสระดับโลกสักคน ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับโปรเจกต์นี้ และคนที่มาเข้าร่วม คือ แชคีล โอนีล สุดยอดเซนเตอร์แห่งยุคสมัย

แน่นอนว่า การที่นักบาสระดับสุดยอด อย่าง แชคีล โอนีล ตัดสินใจมาทำรองเท้าราคาถูก ร่วมกับแบรนด์ที่ไม่มีหน้าตา อย่าง Payless เสมือนเป็นการลดทอนความเป็นซูเปอร์สตาร์อยู่กลาย ๆ 

อีกทั้งตัวเขา ยังมีสัญญาร่วมกับ รีบ็อค แบรนด์กีฬาชื่อดังอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ดูไม่มีเหตุผล ที่แชคจะต้องมาทำรองเท้าราคาถูกเป็นคอลเลคชั่นส่วนตัววางขาย

อย่างไรก็ตาม แชค ได้แถลงไขอย่างชัดเจนว่า เหตุผลที่เขามาทำรองเท้าราคาไม่กี่สิบดอลลาร์สหรัฐฯ วางจำหน่าย เป็นเพราะเขามีความฝัน อยากเห็นทุกคนสามารถเป็นเจ้าของรองเท้าที่มีนักบาสซูเปอร์สตาร์เป็นเจ้าของคอลเลคชั่น แม้จะมีเงินไม่กี่สิบดอลลาร์สหรัฐฯ ติดอยู่ในกระเป๋า

“ผมจำได้แม่นเลยตั้งแต่เข้าลีกปี 1992 ที่ผมทำรองเท้าร่วมกับรีบ็อค ผมเจอผู้หญิงคนหนึ่งที่สนาม เธออยากได้รองเท้าของผมมาก แต่เธอไม่มีเงิน”

 

“เธอร้องไห้หนักมาก จนผมต้องหยิบเงิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับเธอ สุดท้ายผู้หญิงคนนั้นบอกผมว่า ‘เมื่อไหร่จะมีคนทำรองเท้าบาสที่ทุกคนสามารถซื้อได้สักที ?'”


Photo : www.oregonlive.com

12 ปีหลังจากนั้น โอกาสที่ แชค รอคอยก็มาถึง หลังจากตัดสินใจร่วมงานกับแบรนด์ Payless เขาและบริษัทกำหนดราคาของรองเท้าว่า จะต้องไม่เกินคู่ละ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,200 บาท ในปัจจุบัน) ซึ่งมีราคาถูกกว่ารองเท้าบาสที่มีนักบาส NBA เป็นเจ้าของคอลเลคชั่นในเวลานั้นเป็นเท่าตัว

ด้วยความเป็นรองเท้าราคาถูก การลดต้นทุนในการผลิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากแต่ขึ้นชื่อว่าเป็นรองเท้าบาส ของนักบาสจาก NBA ทั้งที จะออกแบบให้ดูพื้น ๆ ไร้เอกลักษณ์ ก็คงจะทำแบบนั้นไม่ได้ ดังนั้นวิธีที่ดีสุด ที่จะทำให้รองเท้าทั้งถูก และสวยงาม คือการก็อปปี้ดีไซน์ของรองเท้าบาสราคาแพง ซึ่งเป้าหมายของงานนี้ คือ “Air Jordan” คอลเลคชั่นรองเท้าระดับตำนานของ ไมเคิล จอร์แดน

ก็อปให้รู้ว่าก็อป

“Dunkman” คือชื่อแบรนด์รองเท้าของ แชคีล โอนีล … ทันทีที่ประกาศชื่อแบรนด์ ทุกคนสามารถรู้ได้ทันทีว่า รองเท้าราคาย่อมเยาของแชค ได้แรงบันดาลใจมาเต็ม ๆ จากรองเท้าของ ไมเคิล จอร์แดน โดยนำชื่อของโลโก้ “Jumpman” จากแบรนด์ Jordan มาล้อเลียนเป็น Dunkman ซึ่งนำเอกลักษณ์ของยอดเซ็นเตอร์รายนี้มาใช้


Photo : www.slamonline.com

หากพูดในแง่ของชื่อ ยังดีตรงที่มีการดึงตัวตนของ แชคีล โอนีล มาใส่รองเท้าบ้าง แต่ในแง่ของดีไซน์ เรียกได้ว่าก็อป Air Jordan มาทั้งดุ้น ชนิดที่เรียกว่าของก็อปจีนแดงยังอายเลยทีเดียว

Air Jordan 1, Air Jordan 3, Air Jordan 4, Air Jordan 5, Air Jordan 6, Air Jordan 10, Air Jordan 11, Air Jordan 12 คือรุ่นรองเท้า Air Jordan ที่โดนรองเท้า Dunkman ก็อปปี้มาหมดแล้ว ซึ่งไม่ได้ก็อปแค่ดีไซน์ และเปลี่ยนโลโก้เพียงอย่างเดียว แต่ได้ทำการก็อปชื่อรุ่นมาอีกด้วย เช่น รองเท้าที่ก็อป Air Jordan 1 จะถูกตั้งชื่อว่า Air Shaq 1 


Photo : solecollector.com

 

นอกจากนี้ รองเท้าของ Dunkman ยังเก็บรายละเอียด ขนาดที่ว่า ข้ามรุ่น Air Jordan 2 เพราะเป็นรุ่นที่ไม่ได้รับความนิยมจากสาวก MJ ทำให้รองเท้าของ Dunkman ไม่มีการผลิตรุ่น Air Shaq 2 ออกมา โดยจะข้ามไปที่ Air Shaq 3 เลย

ถึงจะเป็นการก็อปที่ดูหน้าด้าน ๆ แต่ แชค ก็ยอมรับแต่โดยดีว่า นี่เป็นสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำ เพราะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญที่สุด กับการทำให้รองเท้า Dunkman ของเขาได้รับความนิยม

“ไม่มีเด็กคนไหนอยากซื้อรองเท้าราคา 30 เหรียญ เพียงเพราะว่ามันเหมือนรองเท้าราคา 30 เหรียญ ผมบอกทีมงานของผมว่า อย่าทำให้เด็ก ๆ ที่ซื้อรองเท้าของเขาต้องอาย ที่ใส่รองเท้าของเราไปโรงเรียน เราต้องออกแบบรองเท้าให้ดูดีเหมือนมีราคา 100 เหรียญ” แชค เผย ซึ่งวิธีที่เขากล่าวถึง คือการก็อปดีไซน์ของรองเท้าชื่อดังมาเป็นลวดลายของตัวเอง


Photo : www.irishtimes.com

แชค ไม่ได้ก็อปปี้รูปแบบของรองเท้า เฉพาะ Air Jordan เท่านั้น แต่รวมถึงรองเท้าไอคอนรุ่นอื่น ไม่ว่าจะเป็น Nike Air Force 1, Nike Penny, Nike KD, Nike Air Max 1, Nike Air Max 90, Under Armour Curry, Reebok Question ล้วนโดนยี่ห้อ Dunkman ก็อปมาหมดแล้ว

 

จะบอกว่า แบรนด์ Dunkman ของ แชค เป็นแบรนด์รองเท้าที่ขายของก็อปแบบออฟฟิเชียลก็ว่าได้ ซึ่งจนถึงตอนนี้ ตัวเขาไม่เคยถูกฟ้องร้องจากแบรนด์รองเท้าชื่อดังระดับโลกแม้แต่รายเดียว

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า รองเท้า Dunkman ไม่เคยก็อปนวัตกรรมต่าง ๆ ของรองเท้าที่ถูกลอกเลียนมา ทำให้ไม่ถูกฟ้องการละเมิดลิขสิทธิ์ในแง่นี้ รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ผลิตรองเท้าก็ต่างกันออกไป จึงเรียกได้ว่าเหมือนแค่หน้าตา แต่อย่างอื่นไม่มีอะไรเหมือนเลย

ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า 

ถึงจะเป็นรองเท้าเกรดจีนแดง แต่รองเท้า Dunkman ของ แชคีล โอนีล กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา รองเท้ายี่ห้อนี้ขายไปแล้วอย่างน้อย 150 ล้านคู่ ใช่แล้ว คุณอ่านตัวเลขไม่ผิด 150,000,000 คู่ 


Photo : footwearnews.com

เหตุผลที่รองเท้า Dunkman ขายดี แม้จะก็อปรองเท้าชื่อดังมาทั้งดุ้น เพราะถึงจะเป็นของเลียนแบบ แต่รองเท้า Dunkman ได้รับการยอมรับว่า มีความเหมือนในระดับหนึ่ง และหากไม่ใช่คนที่ติดตามบาสเกตบอลจริงจัง หรือมองรองเท้าแค่ผ่าน ๆ คงดูไม่ออกหรอกว่า รองเท้าพวกนี้เป็นของก็อป หรือลอกเลียนมาจากรองเท้ารุ่นอื่น

นอกจากนี้ รองเท้า Dunkman ได้รับความนิยมมาก ในหมู่เด็ก ๆ เพราะไม่ใช่พ่อแม่ทุกคน ที่จะมีเงินจ่ายรองเท้าราคาระดับร้อยดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ลูกของตัวเองใส่ไปโรงเรียน อีกทั้งในความเป็นจริง กีฬาบาสเกตบอลในสหรัฐฯ ได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีกำลังซื้อ หรือมีฐานะไม่ได้ร่ำรวย

Dunkman จึงกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่จะซื้อรองเท้าให้ลูกน้อยได้ใส่เท่ไปโรงเรียน ในราคาย่อมเยา โดยที่พวกเขายังไม่ได้อยู่ในวัยจะมาเปรียบเทียบกันว่า ใครใส่ของแพง ใครใส่ของถูก 


Photo : shaqfuradio.com

อีกทั้งรองเท้า Dunkman ยังสามารถหาซื้อได้ง่ายอย่างมาก กับการวางขายตามร้านรองเท้าทั่วไป รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Kmart หรือ Wal-Mart ที่เปรียบเสมือนกับ 7-Eleven ของบ้านเรา ซึ่งช่วยให้รองเท้าของ แชค สามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มจริง ๆ ตามที่เขาต้องการ

ถึงจะขายได้เยอะมาก แต่รองเท้า Dunkman ไม่ได้ทำรายได้มากนักให้กับ แชค โดยสร้างรายได้ให้นักบาสร่างยักษ์ประมาณ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องรายได้ไม่เคยเป็นเหตุผลในการทำรองเท้ายี่ห้อนี้ สำหรับเขาแม้แต่น้อย เพราะที่เขายังทำรองเท้าสายก็อปออกมาขายเรื่อย ๆ เป็นเรื่องของอุดมการณ์ล้วน ๆ

“รองเท้า Dunkman ทำให้ผมยังเป็นคนติดดินอยู่จนถึงทุกวันนี้ … ไม่มีนักบาสคนไหน อยากทำรองเท้า เจาะตลาดคนชนชั้นล่าง แต่คุณต้องเข้าใจความจริงว่า โลกของเรามีคนชั้นล่าง มากกว่าคนชนชั้นสูง นี่คือโลกที่เป็นอยู่” แชคกล่าว


Photo : www.seplook.com

ถึงจะถูกมองเป็นรองเท้าก็อปปี้ แต่รองเท้า Dunkman คือภาพที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมปัจจุบัน ว่ารองเท้าของแบรนด์ชั้นนำมีราคาที่สูงมาก เกินกว่าที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึง และมีสิทธิ์ครอบครองได้อย่างเท่าเทียม

หากวันหนึ่ง แบรนด์รองเท้าชื่อดัง เลือกที่จะลดราคา ไม่ค้ากำไรเกินควรจากการผลิตรองเท้า หรือผู้คนในสังคมได้รับการสนับสนุนด้านรายได้ มีค่าแรงที่ใกล้เคียงกัน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม คงไม่มีใครซื้อรองเท้าของก็อปแบบ Dunkman อีกต่อไป เพราะทุกคนสามารถเป็นเจ้าของรองเท้า ที่มียี่ห้อเป็น ไนกี้, อาดิดาส หรือ จอร์แดน ได้แบบสบาย ๆ

น่าเสียดายที่โลกไม่ได้เป็นแบบนั้น และนี่คือเหตุผลที่แชคยังต้องขายรองเท้า Dunkman ต่อไป เพื่อเป็นทางเลือก ให้กับกลุ่มคนที่ไร้ทางเลือก และอยากมีรองเท้าบาสที่มีนักกีฬาระดับโลกการันตี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ