DSI แจงแล้ว ปมโซเชียลคาใจ นาฬิกา “บอสพอล” เก๊หรือแท้ก็ต้องยึดไว้ก่อน เตรียมเชิญผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ
จากกรณีที่วานนี้ 22 ต.ค.67 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI นำหมายค้นเข้าตรวจค้นและยึดอายัดทรัพย์สินของ “บอสพอล” ที่ถูกนำมาซุกซ่อนในห้องเช่าภายในซอยรามอินทรา 9 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร สามารถตรวจยึดทรัพย์สินเป็นนาฬิกาหรู 19 เรือน หนึ่งในนั้นคือนาฬิกาหรู Richard Mille RM 53-01 และ Richard Mille RM 35-02 ซึ่งทั้ง 2 เรือนนี้ มีมูลค่ารวมกันกว่า 33 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีพระเครื่อง และสร้อยคอทองคำ , รองเท้าและกระเป๋าแบรนด์เนมอีกหลายรายการ รวมมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท
ต่อมาในรายการโหนกระแส ที่ดำเนินรายการโดย หนุ่ม กรรชัย ได้พูดถึงเรื่องดิไอคอน ประเด็นนาฬิกาหรูที่ ดีเอสไอ ตรวจยึดได้ที่ห้องเช่า ว่า ใครที่เห็นนาฬิกาก็บอกของเก๊ ขณะที่ นายอัจฉริยะ บอกว่า เมื่อคืนมีคนส่งรูปมาให้แล้วบอกว่าไม่รู้หรอว่าเป็นนาฬิกาคลองถม โดยบอกว่าเกินครึ่งเป็นของปลอม ส่วนหนุ่ม กรรชัย ระบุว่า ภาพที่ดีเอสไอเอาไปเทียบกับนาฬิกา มันคนละรุ่นและก็ไม่แท้ด้วย ไปถามนักเล่นนาฬิกาเขารู้ว่าไม่แท้ แล้วของแท้อยู่ไหนนั้น
ล่าสุด 23 ต.ค. 67 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีดังกล่าว ว่า DSI ชี้แจงกรณีตรวจค้นฯ เป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกฏหมาย-เชิญผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบทรัพย์สินที่พบตามขั้นตอนแล้ว
จากปรากฏการเผยแพร่ข้อมูลข่างสารทางสื่อสาธารณะว่าทรัพย์สินที่ได้จากการตรวจค้นห้องพักในซอยรามอินทรา 9 เขตบางเขนกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 จากการประเมินด้วยสายตามีความคิดเห็นว่าเป็นของปลอม และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการดำเนินการ นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษขอชี้แจงว่าปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปภายใต้การสืบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ในความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินทางอาญา และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และการเข้าตรวจค้นดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลและนำไปสู่การยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลตามขั้นตอนของกฎหมาย
ส่วนสิ่งของที่ตรวจยึดมานั้น มีทั้งสิ่งของที่เป็นพยานหลักฐานและทรัพย์สินตามที่ได้ข้อมูลจากพยาน ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สั่งการให้กองคดีทรัพย์สินทางปัญญาเชิญผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบตามขั้นตอนแล้ว
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอยืนยันว่าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ เมื่อได้ผลการตรวจสอบแล้วก็จะนำไปพิจารณาประกอบการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป