บรรยากาศยามเย็นในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกันทั้งครอบครัว
ผู้คนจำนวนหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี กำลังรวมตัวกัน ณ พื้นที่ Dreg Skate Park ลานโล่งกว้างกลางแจ้งที่ใครหลายคนเรียกว่า “สเก็ตพาร์ค”
เรามองออกไปรอบกาย เห็นผู้คนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น เด็ก, วัยรุ่น, ผู้ใหญ่, ผู้ชาย และผู้หญิง ทุกคนต่างมาที่นี่ เพื่อเล่นสเก็ตบอร์ดและพบปะกับผู้คนมากมายที่หลงรักในสิ่งเดียวกัน
สเก็ตพาร์ค เปรียบเหมือนกับศูนย์รวมวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดของชุมชน ไม่ต่างจากสนามฟุตบอลที่หลอมรวมคนในพื้นที่เข้าด้วยกัน แต่สเก็ตพาร์คกลับหาได้ยากมากในประเทศไทย ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
ท่ามกลางผู้คนมากหน้าหลายตา และความสนุกสนานจากการเล่นสเก็ตบอร์ด เรานัดเจอกับ “ไก่-ณัฐภัทร ปัญญารัตนา” ผู้ก่อตั้งร้าน Dreg Skateboard และเป็นเจ้าของลานไถบอร์ดแห่งนี้ ที่จะมาเล่าเรื่องราว ตั้งแต่วันที่สเก็ตเตอร์ชาวนนทบุรีไม่มีแม้แต่ที่จะไถสเก็ต จนถึงวันนี้เขาตัดสินใจลงทุนทำ Dreg Skate Park เพื่อตอบแทนสังคม แม้จะทำให้เขาต้องติดหนี้สินก็ตาม
โดนไล่ไปเล่นที่อื่น
“เมื่อก่อนเราก็ต่อสู้กับภาครัฐมาเยอะเหมือนกัน ทั้งการขอพื้นที่เล่น หรือการขอเล่นสเก็ตบอร์ด เราขออะไรมาหลายอย่าง แต่ไม่เคยได้สักอย่าง”
“ภาคเอกชนก็เหมือนกัน เช่น ห้างสรรพสินค้า เราขอพื้นที่เขาเล่นสเก็ตบอร์ด แต่ก็โดนไล่ออกมา คือเมื่อก่อนเขามองสเก็ตบอร์ดเป็นกีฬาที่ทำลายข้าวของ มองเป็นกีฬาที่มั่วสุม”
“ในสายตาคนทั่วไป สเก็ตบอร์ดมันคืออะไรที่ทุเรศ ดูเหมือนกลุ่มที่ผู้ชายมารวมตัวกันกินเหล้าสูบบุหรี่ มีวัยรุ่นหรือเด็กเล็กอยู่ในนั้น โอเค บางคนอาจจะโดดเรียนไปเล่นสเก็ตบอร์ดจริง แต่พวกเราก็ไม่ได้นั่งมั่วสุมอะไร เราไปเล่นสเก็ตจริง ๆ เพียงแค่มันเป็นภาพลักษณ์ที่ดูไม่ดี”
ณัฐภัทร เริ่มต้นเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กสเก็ตบอร์ดทุกยุคสมัย คือ การถูกมองว่า เป็นพวกไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ ชอบมั่วสุมทำเรื่องไม่ดี และการเล่นสเก็ตบอร์ดก็ไม่ต่างจากการทำลายข้าวของในพื้นที่ให้เกิดความเสียหาย
มุมมองแง่ลบจากสังคมต่อชุมชนคนรักการไถบอร์ด นำมาสู่ปัญหาใหญ่ที่เด็กสเก็ตฯ ในประเทศไทยต้องเจอ คือการขาด “พื้นที่เล่นสเก็ตบอร์ด”
ยิ่งในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ณัฐภัทร เผยว่าพวกเขามีทางเลือกไม่มากนัก ส่วนใหญ่มักเป็นพื้นที่ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี นอกเหนือจากนั้นคือพื้นที่เอกชน แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เจ้าของต่างไม่ยินดีต้อนรับให้เด็กสเก็ตบอร์ดเข้ามาใช้พื้นที่ของตน เพราะกลัวจะถูกมองว่ามีกลุ่มวัยรุ่นเข้ามามั่วสุม
“ผมเคยเล่นที่ห้างโลตัส แคราย ตรงบริเวณลานจอดรถ ต่อมาทางห้างจะก่อสร้างห้างเอสพลานาด ก็เลยมาขอคืนพื้นที่ตรงนั้นคืน” ณัฐภัทร กล่าวเริ่ม
“หลังจากนั้น กลุ่มของเราระหกระเหินกันไปคนละทิศทาง ก็ไปหาเล่นตามพื้นที่ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปเจอที่ไหน ก่อนหน้านี้ผมเล่นตรงตลาดใต้ทางด่วนแห่งหนึ่ง โดยมีการทำเรื่องขอพื้นที่เล่นกันแบบจริงจัง มีการรวบรวมรายชื่อเด็กสเก็ตทั้งในและนอกพื้นที่ได้เกือบร้อยคน เพื่อที่จะมายื่นให้เจ้าของที่”
“เราบอกเขาว่า ถ้ามีสเก็ตบอร์ดมาเล่นตรงนี้จะทำให้ตลาดของคุณ มีคนเข้ามาซื้อของเหมือนตลาดดังในเมือง เพราะตลาดจะมีโซนสตรีทที่เริ่มต้นจากเด็กสเก็ต”
“แต่เราเล่นอยู่ที่นั่นได้แป๊บเดียวก็ต้องออก เพราะคนมาเล่นสเก็ตมันเยอะ มันคงเกะกะคนอื่นที่เขามาเดินตลาด สเก็ตที่เราเล่นมันก็พุ่งไปที่นู่นนี่นั่นบ้าง เลยต้องขอยกเลิกพื้นที่ไป”
“พูดตามตรง เราไปมาหมดแล้วทุกที่ ทั้งของรัฐหรือเอกชน โดนไล่ออกมาจากทุกที่ ผมยังมีป้ายเก็บไว้อยู่เลย เขียนว่า ‘ห้ามเล่นสเก็ตบอร์ด’ ทั้งที่ความจริง เราจ่ายค่าที่ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ และพื้นที่ตรงนั้นมันก็โล่งไม่ได้ทำอะไรอยู่แล้ว”
ทางเลือกเดียว หากพวกเขาต้องการทำสิ่งที่รักโดยไม่ถูกมองว่าเบียดเบียนผู้อื่น หรือ ถูกคนรอบข้างตัดสินว่ามั่วสุมทำสิ่งไม่ได้ คือ การตามหาลานสเก็ตโดยเฉพาะที่เรียกว่า “สเก็ต พาร์ค”
สำหรับชาวสเก็ตบอร์ดแล้ว พาร์คไม่ต่างจากพาราไดซ์ แดนสวรรค์ที่รวบรวมความสุขที่พวกเขาตามหา
“เมื่อก่อนพาร์คมันมีนะ แต่น้อยและอยู่ในเมือง อย่าง หัวหมาก เขามีลานสเก็ตมานานแล้วครับ หรือจะเป็น เรดบูลเอ็กซ์พาร์ค ตรงสาทร แต่บ้านผมอยู่ชานเมือง จะเข้าไปเล่นสักทีต้องเสียค่ารถแพง อีกอย่างให้เข้าเมืองไปไกลขนาดนั้นมันก็ไม่ไหว เลยต้องมาขอเล่นตามที่ต่าง ๆ ใกล้บ้าน”
“ผมเชื่อว่าทุกคนที่เล่นสเก็ตบอร์ด ไม่ว่าจะเป็นเมื่อก่อนหรือทุกวันนี้ ทุกคนอยากมีพาร์คของตัวเอง พวกเราฝันเสมอว่า อยากมีลานสเก็ตหลังบ้าน หรือพาร์คขนาดเล็กไม่ต้องใหญ่โตมาก เอาไว้เล่นกันเองละแวกบ้าน หรือชวนเพื่อนในกลุ่มมาเจอกัน ผมคิดว่าทุกคนอยากจะมีหมด”
จากเงินทุน 30,000 บาท สู่แบรนด์โลคอลเพื่อชุมชน
ความต้องการที่อยากสร้างสเก็ตพาร์คเป็นของตัวเอง ถือเป็นหนึ่งในความฝันสูงสุดของใครหลายคน เช่นเดียวกับ การเป็นเจ้าของร้านขายสินค้าสเก็ตบอร์ด ซึ่งเป็นความคิดที่อยู่ในหัวของ ณัฐภัทร อย่างยาวนาน
ณัฐภัทร จึงทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศอยู่ราวสามปี เพื่อหาเงินทุน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจ ก่อนลาออกมาเปิดร้านขายสเก็ตบอร์ด เมื่อปี 2013 ในนาม Dreg Skateboards
“เงินก้อนแรกที่ลงทุนทำธุรกิจของ Dreg คือ 30,000 บาท ผมจำเงินก้อนนี้ได้เสมอ” ณัฐภัทร กล่าวเริ่ม
“สำหรับผมตอนนั้น 30,000 บาท คือเงินที่เยอะมาก เพราะมันเป็นเงินก้อนแรกที่เตรียมมาทำธุรกิจ คือเงินตรงนี้ผมเอาไปซื้อตัวอย่างแผ่นสเก็ตบอร์ดมาลองทำก่อน แล้วค่อยลองเอามาขายดู ผมก็ถามตัวเองนะว่า จะมีคนซื้อไหมวะ ?”
ณัฐภัทร เริ่มต้นขายสินค้าของ Dreg Skateboards แก่เพื่อนและพี่น้องในวงการสเก็ตบอร์ดจังหวัดนนทบุรี
เขาไม่ได้ลงโฆษณาหรือเผยแพร่สินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย “ณัฐภัทร” เล่าให้ฟังต่อว่า ในช่วงแรกที่ทำแบรนด์สินค้า เขาเปิดร้านด้วยความรักที่มีต่อสเก็ตบอร์ด ไม่ได้คิดถึงผลกำไรหรือการขยายธุรกิจ Dreg Skateboards จึงขายแค่แผ่นสเก็ตบอร์ดเพียงอย่างเดียว
แต่หลังจากเวลาผ่านไป ลูกค้าส่วนใหญ่คือคนที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว มักโทรมาถามถึงชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ รวมถึงสินค้าอื่นมากขึ้น ณัฐภัทร จึงตัดสินใจขยายธุรกิจ Dreg Skateboards ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า แม้จะหมายถึงการเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงก็ตาม
“ผมเดินเข้าธนาคารไปกู้เงินมา ซื้อพวกอะไหล่ยิบย่อยมาขาย เพราะคนโทรมาถามหาเยอะมาก จนคิดได้ว่า เราต้องขายสินค้าพวกนี้แล้ว” ณัฐภัทร เล่าถึงการเติบโตของ Dreg Skateboards ในฐานะแบรนด์ของเด็กสเก็ตบอร์ดแห่งจังหวัดนนทบุรี
“ลูกค้าหลักของเรา เป็นกลุ่มคนท้องถิ่นในจังหวัดนนทบุรี สเก็ตเตอร์ที่เข้ามาซื้อสินค้าของเราก็คือคนบริเวณนี้ เราอาศัยการขายกันเองกับคนในพื้นที่ละแวกบ้านเรา”
“ร้านสนับสนุนชุมชน แล้วชุมชนจะสนับสนุนเรา” นี่คือ วัฒนธรรมที่ไหลเวียนในวงการสเก็ตบอร์ดทั่วโลก เช่นเดียวกับ ชุมชนสเก็ตบอร์ดในจังหวัดนนทบุรี โดยมีศูนย์กลางเป็นธุรกิจ Dreg Skateboards ที่เปรียบได้กับหัวใจของเด็กสเก็ตในย่านนี้
ณัฐภัทรอธิบายถึงวัฒนธรรมดังกล่าวว่า ร้านสเก็ตบอร์ด และ คนเล่นสเก็ตบอร์ดในชุมชน มีความสัมพันธ์แบบ “Give & Take” เริ่มต้นจากการที่ร้านหาสินค้าที่ชุมชนต้องการ, สเก็ตเตอร์ซื้อสินค้าจากร้านในพื้นที่ และร้านจะนำเงินที่ได้มาจากการขายสินค้า มาพัฒนาชุมชน
Dreg Skateboards ไม่เพียงสรรหาสินค้าตามที่คนในท้องถิ่นต้องการ แต่ยังยอมให้ลูกค้าเอาของไปก่อนโดยไม่ต้องจ่ายเงินทันที รวมถึงปล่อยให้ผ่อนค่าสินค้าแบบไม่คิดดอกเบี้ย
แบรนด์ Dreg Skateboards ยืนหยัดและต่อสู้อยู่หลายปี จนกระทั่งกลายเป็นแบรนด์สเก็ตบอร์ดของคนนนทบุรี อย่างแท้จริง ณัฐภัทร จึงคิดที่จะตอบแทนชุมชนที่เขาเติบโตขึ้นมา ด้วยการสร้างสิ่งที่ไม่มีใครคิดจะทำมาก่อน
ก่อสร้างจากความเชื่อ
“เฮ้ย กูต้องเปิดพาร์ค” ณัฐภัทร กล่าวถึงประโยคที่พูดกับตัวเองในใจ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Dreg Skate Park
“เหตุผลที่คิดแบบนั้น เพราะเราไม่เคยมีลานเล่นสเก็ตเลย เราอาศัยที่อื่นแล้วก็โดนไล่ออกมาตลอด เราแค่อยากมีที่เล่นประจำสักที่หนึ่ง แต่กลับโดนไล่มาเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งผมบอกกับตัวเองว่า พอแล้ว เราจะไม่ไปหารัฐ ไม่ไปหาเอกชน ไม่ไปหาใครแล้ว เราจะทำลานสเก็ตเอง”
“ผมไม่ได้วางแผนอยากมีลานสเก็ตอะไรใหญ่โต อยากมีแค่ลานสเก็ตในบ้าน ไม่ได้ต้องมีผู้คนมาเล่นมากมาย แต่ด้วยความที่เรามองเห็นเพื่อนหลายคนยังขาดที่เล่นกัน ก็เลยจับไอเดียขึ้นมาว่า เราลองสร้างลานสเก็ตที่เป็นลานมาตรฐาน ให้คนเล่นอย่างจริงจังเลยดีกว่าไหม”
แม้จะประสบความสำเร็จจากธุรกิจ Dreg Skateboards ในระดับหนึ่ง แต่การสร้างสเก็ตพาร์ค ถือเป็นงานยากของณัฐภัทร เพราะลานสเก็ตไม่เหมือนกับธุรกิจร้านค้า ที่แค่เพียงหาสินค้าบวกกับห้องเช่าสักตึก
การสร้างสเก็ตพาร์คนั้น ต้องหาทั้งทำเลที่มีขนาดใหญ่, ปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้างลานสเก็ตบอร์ดที่ได้มาตรฐาน และจำเป็นต้องใช้เงินหลายล้านบาท ณัฐภัทรยอมรับว่า เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก “กู้” เงินจากธนาคาร เพื่อสร้างความฝันของเขาให้กลายเป็นจริง
“แน่นอนว่า มันต้องใช้เงินเยอะเลยครับ มันเกินกำลังตัวเรามาก แต่ผมเคยอ่านความคิดของพวกนักธุรกิจที่ว่า คุณต้องมีหนี้ก่อน ธุรกิจถึงจะไปต่อได้ ผมก็เลยตัดสินใจไปกู้เงินจากธนาคาร ยอมขายรถ เพื่อมาจ่ายค่าเช่าที่หลายหมื่น ไหนจะค่าก่อสร้างอีก”
“ตอนเริ่มต้นทำพาร์ค ผมไม่คิดหรอกว่าคนจะมาเล่นเยอะแบบนี้ เพราะตอนนั้น สเก็ตบอร์ดมันยังเป็นกีฬาที่คนไม่ยอมรับ ไม่มีใครรู้จักว่าไอ้เจ้าสี่ล้อนี่คืออะไร เจ้าของที่ยังถามผมเลยว่า คุณจะไปรอดเหรอ ? ทำไมถึงทำสนามสเก็ตบอร์ด ทำไมไม่ทำสนามฟุตบอล เพราะเขาเช่ากันชั่วโมงละเป็น 1,000 บาท ผมก็ตอบไปว่า ผมแค่อยากสร้างสนามกีฬาที่พวกผมเล่นเอง”
ความเชื่อ คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ ณัฐภัทร ยอมติดหนี้ธนาคาร ราว 5,000,000 บาท เพื่อสร้างสเก็ตพาร์ค ที่ไม่คิดว่าจะสร้างกำไรให้กับตัวเอง แถมการก่อสร้างยังผ่านอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการถูกช่างก่อสร้าง และมิจฉาชีพโกงมาแล้วหลายครั้ง
แต่เขาไม่ละทิ้งความฝัน และบอกกับตัวเองเสมอว่า “ชาวสเก็ตบอร์ดในนนทบุรีต้องมีที่เล่น”
หลังจากเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งปี พื้นที่ซึ่งเคยเป็นป่ากล้วยและพงหญ้า ถูกแปลงโฉมใหม่กลายเป็น Dreg Skate Park ลานสเก็ตบอร์ดเต็มรูปแบบเอกชนแห่งแรก ในจังหวัดนนทบุรี และประเทศไทย
“มันมีคนบอกเหมือนกันนะว่า ถ้าไม่มีพาร์คตรงนี้ ผมมีบ้านมีรถเป็นของตัวเองไปนานแล้ว ซึ่งมันก็จริงของเขาครับ เขาพูดถูกหมดทุกอย่าง แต่ผมคิดว่า สเก็ตบอร์ดมันต้องมีที่เล่น ไม่อย่างนั้น พวกเราจะไปเล่นกันที่ไหน ผมขายสเก็ตบอร์ดออกไป แต่ไม่มีที่เล่น มันก็เท่านั้น”
“สิ่งสำคัญคือ เมื่อมันมีลานสเก็ต มันก็จะมีคนเล่น และเมื่อมีคนเล่น ลานสเก็ตก็จะเพิ่มขึ้น มันเป็นเรื่องปกติ ผมเลยจุดประกายให้คนเห็นว่า เราต้องทำพาร์คขึ้นมา เพื่อให้คนมาเล่นกับเราเยอะ ๆ แล้วสักวันหนึ่ง ลานสเก็ตที่เราสร้างขึ้นมา มันจะเป็นบ่อเกิดเพชรเม็ดงามที่จะทำให้เจอนักสเก็ตเก่ง ๆ ที่ออกไปแข่งตามระดับโลก”
ความสนุกสู่อาชีพ
นับตั้งแต่ปี 2017 ที่เริ่มก่อสร้าง Dreg Skate Park กำลังก้าวสู่ขวบปีที่ 4 ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของวงการสเก็ตบอร์ดในประเทศไทย จากที่เคยถูกมองเป็นกีฬามั่วสุม ทุกวันนี้ มันได้กลายเป็นกิจกรรมของคนทุกเพศวัย ส่งผลให้ลานสเก็ตแห่งนี้ มีผู้เดินทางเข้ามาใช้งานตลอดเช้าจรดเย็น
“มีคนมาเล่นโคตรเยอะครับ คนมาเยอะจนรับไม่ไหว บางครั้งผมต้องบอกว่า พี่กลับไปเถอะ เพราะมาแล้วเขาไม่ได้เล่น คือคนในสนามมันจอแจกันเกินไปหมดแล้ว จะลงไปเล่นสนามก็ชนกับคนอื่น แถมยังมาหลายเวลา เช้า บ่าย เย็น ดึก เรียกได้ว่า 24 ชั่วโมง มีคนเล่นตลอดเวลา ขนาดปิดแล้ว ยังมีคนแอบเข้ามาเล่น” ณัฐภัทร เผยถึงความนิยมของ Dreg Skate Park
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ คนรักสเก็ตบอร์ดเมืองนนท์ พากันเข้ามาใช้บริการ Dreg Skate Park เนื่องจากที่นี่ไม่เก็บค่าเข้าใช้บริการ แน่นอนว่า หากมองผ่านจำนวนสเก็ตเตอร์ที่เข้ามาเล่นในพาร์ค การเก็บค่าเข้าแค่หลักสิบหลักร้อยบาท ย่อมสร้างรายได้จำนวนมากในแต่ละวัน
สำหรับ ณัฐภัทร เงินไม่ใช่สิ่งที่เขาตามหาจากการสร้าง Dreg Skate Park แต่การพัฒนาวงการสเก็ตบอร์ดในประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ให้สนใจกีฬาประเภทนี้ ณัฐภัทรเล่าให้ฟังว่า ลูกค้าที่อายุน้อยที่สุดในสเก็ตพาร์คแห่งนี้ มีอายุเพียง 1 ขวบเท่านั้น
“คุณพ่อคุณแม่สมัยนี้เปิดโอกาสให้มากขึ้น มีหัวคิดแนวใหม่มากขึ้น มองเห็นว่าสเก็ตบอร์ดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด มันไม่ใช่กีฬามั่วสุมอีกแล้วนะ”
“เรามีการสอน Dreg Skate School เพราะมีเด็กสนใจเล่นสเก็ตบอร์ดมากขึ้น เรานำสเก็ตเตอร์คนนนทบุรีมารับหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงสอนเด็กเล็ก ถือเป็นการสร้างอาชีพให้เด็กท้องถิ่นไปในตัว”
“เพราะมีพาร์ค จึงมีอาชีพนี้” ณัฐภัทรกล่าวอย่างภาคภูมิใจ เมื่อเขาเห็นรุ่นน้องนักสเก็ตบอร์ดสามารถหารายได้ให้กับตัวเอง ด้วยบทบาทครูพี่เลี้ยงที่คอยสอนสเก็ตเตอร์รุ่นเยาว์ที่อยากมีทักษะในด้านนี้ กิจกรรมที่เกิดขึ้นใน Dreg Skate Park จึงไม่ใช่แค่การรวมตัวเล่นสเก็ตบอร์ดของคนทุกเพศวัย
แต่ยังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างอนาคตแก่คนรักสเก็ตบอร์ดในจังหวัดนนทบุรี ถือเป็นเป้าหมายใหม่ของ ณัฐภัทร และทีมงาน Dreg Skateboards ที่ต้องการเห็นเด็กไทยสามารถดำรงชีวิตได้ ด้วยอาชีพ “นักสเก็ตบอร์ด”
“เป้าหมายของเรา คือต้องการให้สเก็ตบอร์ดกลายเป็นอาชีพ วันนี้เรามีลานสเก็ตแล้ว เรามีคนเล่นเยอะแล้ว เรามีคนที่มีฝีมือแล้ว เราจึงอยากทำให้พวกเขาเล่นสเก็ตบอร์ดเป็นอาชีพได้เหมือนต่างประเทศ”
“ประเทศใกล้บ้านเราอย่าง ญี่ปุ่น หรือ มาเลเซีย เขามีนักกีฬาอาชีพที่มีเงินเดือนเป็นเรื่องราว เลี้ยงตัวเองเลี้ยงครอบครัวได้ไม่ต่าจากนักมวยหรือนักบอล แต่เมืองไทยยังขาดตรงนี้อยู่”
“ทาง Dreg ก็เลยอยากผลักดันตรงนี้ เพราะสุดท้ายแล้วคนเล่นสเก็ตบอร์ดมันต้องได้อะไร ไม่ใช่เจ็บตัวไปวัน ๆ คือตอนนี้คุณอาจจะสนุกไปกับมัน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่หมดความเป็นวัยรุ่น และต้องเลือกระหว่างสเก็ตบอร์ดกับชีวิตจริง มีหลายคนในอดีตที่เก่งมาก ฝีมือดีมาก แล้วต้องเลิกเล่นไป เพราะวันหนึ่งเขาต้องเลือกชีวิต เขาต้องเลือกครอบครัว”
สเก็ตบอร์ดเป็นอาชีพ หากย้อนกลับไปสิบปีก่อน เรื่องเหล่านี้คงเป็นเพียงแค่ความฝัน แต่ภาพที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าใน Dreg Skate Park เราเริ่มจะมองเห็นแล้วว่า มีผู้คนจำนวนมากมายแค่ไหน ที่พร้อมจะอยู่กับสเก็ตบอร์ดไปตลอดทั้งชีวิต
“ร้านสนับสนุนชุมชน แล้วชุมชนจะสนับสนุนเรา” ประโยคนี้ผุดขึ้นมาในหัวอีกครั้ง จากสิ่งที่เกิดขึ้นสเก็ตพาร์คแห่งนี้ เพราะ Dreg Skateboards ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า หน้าที่ของแบรนด์สเก็ตบอร์ดประจำท้องถิ่นคืออะไร และลานสเก็ตบอร์ดที่มีคุณภาพสักแห่ง จะสามารถสร้างสเก็ตเตอร์รุ่นใหม่ได้มากขนาดไหน
คำตอบนั้นอยู่เบื้องหน้าของเราแล้ว …