เมื่อมีการลงนามในข้อตกลงใหม่ที่การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศในเมืองกลาสโกว์ คุณอาจจะสงสัยว่า มันจะส่งผลกระทบต่อคุณอย่างไร
การตัดสินใจที่เกิดขึ้นที่การประชุม COP26 อาจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณได้
เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทาง
การเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้าเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เราน่าจะต้องเผชิญ
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า รถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ราคาอาจจะไม่ต่างจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือเบนซินคันใหม่ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า และอาจเป็นไปได้ที่จะมีการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า ตลาดมือสองจะขยายตัว ซึ่งจะทำให้รถเหล่านี้มีราคาถูกลง
หลายสิบประเทศ ภูมิภาคต่าง ๆ และบริษัทรถยนต์หลายแห่ง ได้เห็นชอบในการเร่งการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และมีการนำรถบัสและรถบรรทุกที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์มาใช้งาน
ขณะที่หลายคนระบุว่า เราจำเป็นต้องลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนลง การเดินและการปั่นจักรยานอาจจะเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
มากกว่า 40 ประเทศ ได้ลงนามในการลดการใช้ถ่านหิน และมีประเทศจำนวนไม่ต่างกันมากได้รับปากว่า จะใช้พลังงานสะอาดที่น่าเชื่อถือและราคาไม่แพงในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนและห้างร้านต่าง ๆ
สำหรับหลายประเทศอย่างสหราชอาณาจักร เรื่องนี้จะทำให้ต้องมีการเดินหน้าใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ อย่างพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ และน่าจะพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น
COP26 ไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างจีนและอินเดียรับปากว่า จะเลิกใช้ถ่านหิน
อย่างไรก็ตาม มีการคาดหวังว่า การประกาศที่เกิดขึ้นในกลาสโกว์จะส่งสัญญาณให้ตลาดรู้ว่า มีความคุ้มค่าในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน
บ้านของเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
แผงพลังงานแสงอาทิตย์และฮีตปั๊มอาจจะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในบ้านของเรา เราจะสร้างบ้านหลังใหม่โดยใช้วัสดุทางเลือกที่ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่า แทนซีเมนต์และคอนกรีต และพยายามที่จะปรับปรุงบ้านหลังเดิม
- โลกร้อน: การประชุม COP26 ในกลาสโกว์ตกลงอะไรกันได้บ้าง
- โลกร้อน : คำสัญญารับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของนายกฯ ประยุทธ์ กับผู้นำชาติอื่นที่ COP26
- โลกร้อน : ไม่มีไทยใน 105 ชาติ ลงนามยุติการตัดไม้ทำลายป่า ภายในปี 2030 ที่ COP26
นอกจากนี้ยังต้องมั่นใจว่าในการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน และชุมชนต่าง ๆ สามารถทนทานต่อผลกระทบในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
เอวา ฮิงเกอร์ส ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของ Arup กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องมั่นใจว่า [อาคารต่าง ๆ] เหมาะสมต่อการเผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น”
โดยอาจรวมถึง การปรับปรุงพื้นที่สีเขียวภายในและรอบตัวบ้านให้ดูดซับฝนตกหนักได้ ติดตั้ง “หลังคารักษาความเย็น” ที่สะท้อนแสงอาทิตย์และปกป้องความร้อนเกินพิกัด หรือการใช้บานประตูหน้าต่าง เพื่อให้บ้านทนทานต่อแรงลมของพายุเฮอร์ริเคนได้
เราอาจต้องเริ่มจ่ายค่าคาร์บอนมากขึ้น
การใช้ชีวิตประจำวันของเรามีส่วนในการปล่อยคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นซื้ออาหารนำเข้า หรือเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศโดยเครื่องบิน
ในอนาคต เราอาจเห็นการเพิ่มต้นทุนของการปล่อยคาร์บอนเข้ามาไว้ในราคาที่เราจ่าย ไม่ว่าจะเป็นของที่ผลิตในประเทศหรือไม่
ดังนั้น ถ้าธุรกิจไม่พยายามที่จะลดการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่นำมาขาย ราคาก็อาจจะสูงขึ้น โดยมีการคาดหวังว่า การทำเช่นนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ คิดให้รอบคอบเกี่ยวกับวิธีการบริโภคและการใช้เงิน
ในการรับมือกับเรื่องนี้ บริษัทขายสินค้าในครัวเรือนขนาดใหญ่อย่าง แอมะซอน (Amazon) ยูนิลีเวอร์ (Unilever) และอิเกีย (Ikea) ต่างระบุว่า พวกเขากำลังพยายามที่จะให้เรือขนส่งสินค้าที่พวกเขาใช้ในการส่งสินค้าอยู่ จะต้องใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น
มีพื้นที่สำหรับธรรมชาติมากขึ้น
บทบาทของธรรมชาติในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความจำเป็นในการฟื้นฟูธรรมชาติ ตั้งแต่ป่าไปจนถึงพื้นที่ชุมน้ำ มีการถูกพูดถึงกันอย่างมากในการประชุมที่กลาสโกว์ และเราอาจจะเห็นถึงข้อดีหลายอย่างของการมีพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้นในเมืองของเรา
“ธรรมชาติอาจช่วยพวกเราทุกคนที่นี่ ถ้าเราปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความเคารพอย่างที่มันสมควรจะได้รับ” ดร.เอมิลี ชุกบะระ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าว
เครก เบนเน็ตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Wildlife Trusts กล่าวว่า ข้อถกเถียงในการสร้างพื้นที่ธรรมชาติกำลังชัดเจนขึ้นและมีการพูดถึงมากขึ้นกว่าที่เคย
อาหารที่แพงขึ้น ?
ประเทศมากกว่า 100 ประเทศได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการใช้ป่าไม้และที่ดินของผู้นำกลาสโกว์ ซึ่งมีเป้าหมายในการยุติการตัดไม้ทำลายป่า
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาจต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก การยุติตัดไม้จะไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าเราใส่ใจกับราคามากกว่าความยั่งยืน
“ผู้บริโภคจะต้องช่วยดูดซับต้นทุนเหล่านี้บางส่วนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเราต้องการที่จะทำให้ปฏิญญา COP26 เกิดขึ้นจริง ด้วยการจ่ายเงินมากขึ้นและบริโภคให้น้อยลง” โทบี การ์ดเนอร์ จากสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม กล่าว
เงินบำนาญและการลงทุนของคุณเปลี่ยนแปลงไป
สถาบันการเงินมากกว่า 400 แห่ง ที่ควบคุมเงินราว 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,259 ล้านล้านบาท) เห็นชอบในการประชุม COP26 ว่า จะสนับสนุนด้านการเงินแก่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นั่นหมายความว่า กองทุนเงินบำนาญขนาดใหญ่หลายแห่งอาจจะต้องย้ายเงินของคุณไปลงทุนในภาคส่วนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจรวมถึง “การช่วยให้ลูกค้าของเราหาวิธีปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่บ้าน…การลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ที่พัฒนารูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนแบบใหม่” เจเน็ต โป๊ป จากกลุ่มธนาคารลอยด์ กล่าว
เปลี่ยนแปลงวิธีคิด?
เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเราด้วยเช่นกัน
ดร.สเตฟานี โซเดโร จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ กล่าวว่า เป้าหมายของการจำกัดอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส อาจจะกระตุ้นการร่วมมือกันในชุมชน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หากอุณหภูมิเพิ่มเกินขีดจำกัดนี้ จะเกิดผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศที่อันตรายอย่างมากและไม่อาจคาดเดาได้
“ด้วยเหตุผลนี้ ชุมชนต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร และประเทศอื่น ๆ ซึ่งนำโดยนักเคลื่อนไหวเยาวชน ฉันคิดว่า จะมีแรงกดดันอย่างมากและยาวนานในการตรวจสอบการตัดสินใจด้านการจัดการต่าง ๆ ตั้งแต่การเดินทางขนส่งในท้องถิ่นไปจนถึงเรื่องพลังงานระดับประเทศ ผ่านการพิจารณาด้านสภาพภูมิอากาศ” เธอกล่าว
แมตธิว แฮนนอน จากมหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ กล่าวว่า แรงผลักดันให้เกิดเน็ตซีโร (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) น่าจะทำให้เกิดผลดีอย่าง อากาศที่สะอาดขึ้น ท้องถนนที่เงียบมากขึ้น และสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น
“การทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เน็ตซีโร ควรจะทำให้เกิดวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและมีความสุขขึ้น” เขากล่าว “ดังนั้น ควรจะถามน้อยลงว่า ฉันจะเสียอะไรจากเน็ตซีโร แต่ควรจะถามว่า ฉันจะได้อะไรมากกว่า”
……………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว