กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) และกรมศุลกากร ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. , นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร , พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. , พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. , พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผบก.รน. ร่วมกับกรมศุลกากร นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี , นางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร, นายกฤดิพรรธน์ สิงห์อุบลปิติกุล ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 3 ,นายเอกวุฒิ นาเอก นายด่านศุลกากรเชียงแสน
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเกิด อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และสื่อสารสนเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉ้อโกงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือกลุ่มคอลเซ็นเตอร์(Call Center) ส่งผลกระทบต่อประชาชน และเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มคนร้ายได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยน รูปแบบ วิธีการหลอกลวงเหยื่อผู้เสียหายโดยใช้เทคโนโลยี การติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย และซับซ้อนมากขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) พร้อมด้วยกรมศุลกากร จึงได้บูรณาการความร่วมมือในการป้องกัน ปราบปราม และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง เพื่อยับยั้งต้นตอ และตัดวงจรของกลุ่มคนร้าย ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center) หรือ AOC
จากการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) และกรมศุลกากร ทำให้ทราบ เบาะแสว่าจะมีพัสดุต้องสงสัย ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติส่งมาจากต่างประเทศ เข้ามาประเทศไทย เพื่อส่งต่อผ่านทางพื้นที่ติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน ทางสามเหลี่ยมทองคำ ด้าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรด่านเชียงแสน จึงเฝ้าระวังสังเกตการณ์ กระทั่งพบกล่องลังกระดาษ และกล่องพลาสติกต้องสงสัย มีผ้าห่อหุ้มมิดชิด รวมแล้วกว่า 10 กล่องใหญ่ ซุกซ่อนอยู่บริเวณโคนต้นไม้ ริมแม่น้ำโขง พื้นที่รอยต่อสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
เมื่อเข้าตรวจสอบ พบเครื่องคอมพิวเตอร์ All In One จำนวน 94 ชุด พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบอื่น ๆ , โทรศัพท์มือถือ จำนวน 347 เครื่อง,สมุดจดบันทึกเป็นภาษาจีน จำนวน 15 เล่ม และสิ่งของอื่นๆ จำนวนมาก
จากการตรวจสอบข้อมูลภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม (กก.4 บก.ป.) พบข้อมูลที่น่าเชื่อว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่กลุ่มมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์นำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชนได้ เนื่องจากปรากฏข้อมูล ข้อความแชทสนทนาจำนวนมาก ในลักษณะคล้ายสคริปต์การสนทนา วิธีการขั้นตอนการทำงาน เริ่มต้นตั้งแต่การสร้างโปรไฟล์ ในโซเชียลมีเดีย โดยพบว่ามีภาพชาย-หญิงทั้งยุโรปและเอเชีย หน้าตาดี ในอิริยาบถต่างๆ จำนวนมาก , ข้อความแชทสนทนาเชิงชู้สาว คล้ายกลุ่มคนร้าย Romance Scam หรือการหลอกให้รัก , ข้อความแชทสนทนาลักษณะชักชวนลงทุนรูปแบบต่างๆ , ข้อความขอคำปรึกษาวิธีการแก้ปัญหาระหว่างคนร้ายด้วยกัน , ตัวอย่างบทสนทนาในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับการเงินของกลุ่มคนร้าย ซึ่งพบข้อมูลผู้เสียหายเป็นชาวจีน ชาวญี่ปุ่น ชาวต่างชาติฝั่งยุโรปและอเมริกา ในส่วนสมุดบันทึกที่มีข้อความภาษาจีน พบว่าคล้ายไดอารี่ของพนักงาน ในลักษณะจดขั้นตอนวิธีการทำงาน และเขียนบันทึกการทำงานในแต่ละวันเอาไว้
นอกจากนี้ ในพื้นที่บริเวณตลิ่ง ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน ยังพบถุงพลาสติก 1 ถุงใหญ่ ซุกซ่อนในป่าทึบ ภายในถุงบรรจุกล่องโทรศัพท์ จำนวน 5 กล่อง ซึ่งตรวจสอบภายในกล่องโทรศัพท์แต่ละกล่อง พบโทรศัพท์มือถือใส่ซิมการ์ด , สมุดบัญชีธนาคาร , บัตร ATM พร้อมกระดาษจดรหัสบัตร ATM และ รหัสการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันธนาคาร พร้อมใช้งาน
อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ป. พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรด่านเชียงแสน ยังร่วมกันตรวจสอบกล่องพัสดุต้องสงสัยที่ส่งโดยการขนส่งทางอากาศมาจากต่างประเทศ และผู้รับตามชื่อที่กล่องพัสดุปฏิเสธการรับ จำนวน 2 ราย โดยกล่องพัสดุรายแรกพบว่าถูกส่งมาจากประเทศอังกฤษ ภายในกล่องพบ ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ เครือข่าย Vodafone จำนวน 4,998 อัน ส่วนพัสดุรายที่ 2 ซึ่งระบุผู้รับอีกราย ถูกส่งมาจากประเทศญี่ปุ่น ตรวจสอบภายในกล่องพบ อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม ยี่ห้อ Starlink ของบริษัท SpaceX อีกจำนวนกว่า 10 เครื่อง
จึงร่วมกันตรวจยึดของกลาง
- ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ เครือข่าย Vodafone จำนวน 4,998 อัน
- อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม ยี่ห้อ Starlink ของบริษัท SpaceX จำนวน 10 เครื่อง
- เครื่องคอมพิวเตอร์ All In One จำนวน 94 ชุดและอุปกรณ์ส่วนควบอื่น ๆ
- โทรศัพท์มือถือ จำนวน 347 เครื่อง
- สมุดจดบันทึกเป็นภาษาจีน จำนวน 15 เล่ม
- สมุดบัญชีธนาคารไทย พร้อมโทรศัพท์มือถือ และซิมการ์ด จำนวน 5 ชุด
เบื้องต้น ประเมินมูลค่า (ไม่รวมภาษีอากร) ของทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้ในครั้งนี้ ประมาณ 5.4 ล้านบาท
เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้
1.ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ เครือข่าย Vodafone เป็นของต้องเสียภาษีอากร ซึ่งยังไม่มีผู้ใดมารับของและเสียภาษีอากร และถือว่ายังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 107 ประกอบมาตรา 167 “ให้พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ มีอำนาจยึดหรือ อายัดสิ่งใด ๆ เพื่อตรวจสอบ หากตรวจสอบแล้วพบว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งอันพึงต้องริบ ให้พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ มีอำนาจยึด สิ่งนั้น สิ่งที่ยึดไว้นั้น และเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่น คําร้องขอคืนภายในกําหนดให้ตกเป็นของแผ่นดิน”
2.อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม ยี่ห้อ Starlink เป็นของที่ไม่มี การยื่นใบขนส่งสินค้าและไม่ได้เสียอากร หรือวางประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น ของดังกล่าวเป็นของต้องภาษี ซึ่งยังไม่มีผู้ใดมารับของ จึงเข้าข่ายตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 107 ประกอบมาตรา 167 “ให้พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ มีอำนาจยึดหรือ อายัดสิ่งใด ๆ เพื่อตรวจสอบ หากตรวจสอบแล้วพบว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งอันพึงต้องริบ ให้พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ มีอำนาจยึด สิ่งนั้น สิ่งที่ยึดไว้นั้น และเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่น คําร้องขอคืนภายในกําหนดให้ตกเป็นของแผ่นดิน” ซึ่งผู้นำเข้ามาในประเทศ จะต้องขออนุญาตนำเข้าจาก สำนักงาน กสทช. ก่อน มิเช่นนั้น อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 ฐาน “นำเข้า หรือ ค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน” ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกฐานหนึ่ง
- หนุ่มจีนวัย 16 ปี กระโดดลงเก๋ง วิ่งหนีปรี่เข้าโรงพัก ขอความช่วยเหลือ
- อ.น้องไนซ์ เดือดไม่หยุด! แขวะ LGBT ไม่รู้เพศดันมาบวช เก่งแต่ตำรากระจอก!
- รู้ยัง! สาดน้ำใส่คน ไม่เล่นสงกรานต์ มีความผิด เสี่ยงติดคุกไม่รู้ตัว
3.เครื่องคอมพิวเตอร์ All In One ,โทรศัพท์มือถือ เข้าข่ายความผิดฐาน “นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรฯ” ตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
4.สมุดบัญชีธนาคารไทย(บัญชีม้า) พร้อมโทรศัพท์มือถือ และซิมการ์ด เป็นของที่พยายามลักลอบหนีศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักร เข้าข่ายความผิดฐาน “นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรฯ” ตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ในส่วนของผู้เปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร และหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว เข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชกำหนดมาตราการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มาตรา 9 ฐาน “เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือกิจการที่ตนเกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้หมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน โดยประการที่รู้หรือควรจะรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในส่วนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ เครือข่าย Vodafone เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานได้ว่ากลุ่มคนร้ายนำมาใช้สมัครยืนยันตัวตนในการสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อใช้หลอกลวงเหยื่อ , อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม ยี่ห้อ Starlink ของบริษัท SpaceX สันนิษฐานว่า จะนำมาใช้ในโครงข่ายการสื่อสารของกลุ่มคนร้าย และบัญชีม้าที่พร้อมใช้งานนั้น เชื่อว่าอาจจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ การพนันออนไลน์ หรือความผิดอื่น ๆ
ทั้งนี้อุปกรณ์และสิ่งอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบในครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานของมิจฉาชีพที่ใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แก๊ง Call Center ,การพนันออนไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ถูกลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยกลุ่มนายทุน เพื่อส่งต่อไปยังที่ประเทศเพื่อนบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจยึดสิ่งของดังกล่าวทั้งหมดไว้ และจะสืบสวนขยายผลหานายทุนผู้ว่าจ้าง และผู้ร่วมกระทำความผิด เพื่อติดตามทั้งขบวนการมาดำเนินคดีต่อไป
ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) จึงขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชน หากพบเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลมายังตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ได้ทุกช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพทุกรูปแบบ ที่สำคัญขอให้มีสติก่อนทำธุรกรรมทางการเงินทุกครั้ง