อนุทิน นำทีมทูตสหรัฐฯ-ผอ.CDC เยี่ยมสถาบันบำราศฯ ถอดบทเรียนสู้โรคอุบัติใหม่ สร้างความร่วมมือเฝ้าระวังโรคในอนาคต คนสู่คน-สัตว์สู่คน ยันฉีดบูสเตอร์วัคซีนโควิด แม้แนวโน้มการระบาดดีขึ้น
14 มี.ค. 66 – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังนำนายโรเบิร์ต เอฟ.โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พญ.โรเชล วาเลนสกี ผอ.ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (CDC) และคณะฯ เยี่ยมชมสถาบันบำราศนราดูร ว่า
ไทยและสหรัฐฯ มีความร่วมมือด้านสุขภาพมานานถึง 43 ปี มีการแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ และข้อมูลที่หลากหลายเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะช่วงโควิด 19 ไม่เพียงแต่พัฒนาขีดความสามารถการป้องกันควบคุมโรคในระดับประเทศ ยังขยายไประดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย
และเนื่องในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ครบรอบ 190 ปี สธ.ไทย โดยสถาบันบำราศนราดูร จึงเชิญเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ผอ.ศูนย์ CDC และคณะฯ เยี่ยมชมห้องพักผู้ป่วยที่ได้พัฒนาขึ้นเมื่อ นพ.คาร์โล เออบานนี แพทย์องค์การอนามัยโลกคนแรกที่ประกาศเตือนภัยต่อสาธารณะให้เตรียมรับมือกับโรคซาร์ส ก่อนที่จะติดเชื้อและเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศฯ เป็นผู้ป่วยรายแรกของไทย และเสียชีวิตในปี 2003
รวมถึงเพื่อระลึกถึงความสัมพันธ์ต่อวงการสาธารณสุข ถอดบทเรียนควบคุมการติดเชื้อของไทย เช่น การรักษาผู้ป่วยรายแรกของโควิด 19 เตรียมความพร้อมตอบโต้โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในอนาคต และการสานต่อความร่วมมือเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก
นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค กล่าวว่า ทั้ง 2 ประเทศมีความร่วมมือครอบคลุมหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ CDC กับ สธ.ไทยตลอดหลายทศวรรษ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคง เสมอภาค เข้าถึงบริการสุขภาพ จึงตั้งสำนักงานขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งนอกสหรัฐฯ ที่ไทย ตัวอย่างความสำเร็จ เช่น ปี 2559 CDC สนับสนุนช่วยให้ไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่า สามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จ
หรือปี 2564 ร่วมวิจัยให้เกิดยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวีชนิดใหม่ที่มีประสิทธิผล และช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้คนปลอดภัยจากโควิด สนับสนุนไทยเป็นผู้นำติดตามผู้สัมผัสเชื้อ ดำเนินมาตรการควบคุมต่างๆ ใน กทม. สนับสนุนการตรวจเลือดผู้ที่อยู่ในกลุ่มวิกฤต พัฒนาเครือข่ายตรวจประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิดและวัคซีนไข้หวัดใหญ่
“ผลความสำเร็จหลายเรื่อง เด็กที่มีความเสี่ยงจึงสามารถเติบโตขึ้นโดยมีสุขภาพที่แข็งแรง ครอบครัวเข้าถึงยาช่วยชีวิต พ่อแม่ไปทำงาน ปู่ยาตายายเลี้ยงดูบุตรหลานได้ หลายล้านคนมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขกับกิจวัตรประจำวันเพราะความร่วมมือนี้ ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 190 ปี เราไม่ได้มองเพียงความสำเร็จในอดีต แต่ยังมองไปถึงอนาคตเพื่อหาแนวทางใหม่ๆ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน” นายโรเบิร์ตกล่าว
ด้าน พญ.โรเชล กล่าวว่า ในวาาระครบรอบ 20 ปีการเกิดโรคซาร์ส สถาบันบำราศฯ มีบทบาทสำคัญในการตอบโต้โรคซาร์สในไทย ขณะรักษา นพ.คาร์โล ซึ่งเป็นคนแรกที่ระบุว่าซาร์สเป็นโรคใหม่แพร่กระจายง่าย โดยขอให้ระลึกถึง นพ.คาร์โล และทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าวและเสียชีวิต ระลึกถึงบุคลากรที่เสี่ยงชีวิตรักษาผู้ป่วย และบทเรียนที่ได้จากการระบาด เช่น ระบบเฝ้าระวังเพื่อค้นหาภัยคุกคามด้านสาธารณสุข แนวปฏิบัติควบคุมการติดเชื้อ เพื่อปกป้องผู้ป่วยและผู้ดูแลรักษา สร้างศักยภาพในการตอบโต้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อควบคุมการระบาดอย่งรวดเร็วก่อนเป็นอันตรายร้ายแรง
วันนี้ตั้งตารอเยี่ยมชมหอผู้ป่วยพิเศษที่สร้างขึ้นในสถาบันบำราศฯ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่แพร่กระจายง่าย ซึ่งจัดขึ้นให้มีหลังดูแล นพ.คาร์โล และอีกเรื่องคือความสำคัญของการสื่อสารกับสาธารณชนที่เกี่ยวกับการระบาด เพื่อที่จะปกป้องตนเองและคนที่รักและชุมชนไม่ให้รับผลกระทบได้
ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียเป็นจุดศูนย์กลางของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นไวรัสนิปาห์ ซาร์ส ไข้หวัดนก รวมถึงโควิด CDC และ สธ.ทำงานร่วมกันหลายปี เช่น อบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม เสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการและสอบสวนโรค ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินที่ทันสมัย ไม่เพียงช่วยไทยตอบโต้การระบาดของโรคติดเชื้อในไทยอย่างมีประสิทธิผล แต่ยังสร้างสักยภาพของชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่นๆ ด้วย
“เราต้องยกระดับมาตรการความมั่นคงด้านสุขภาพยิ่งขึ้นต่อไป เพื่อเตรียมรับสถานการณ์วิกฤตด้านสุขภาพระดับโลกในอนาคต ยืนยันที่จะร่วมงานกับไทยและอาเซียน ตั้งแต่ป้องกันและควบคุมโรค เช่น มาลาเรีย เอชไอวี ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัสอื่นๆ และภัยคุกคามด้านสาธารณสุขต่างๆ โดยเราไม่อาจปกป้องประเทศใดประเทศหนึ่งได้ หากไม่ปกป้องทุกประเทศไปพร้อมกัน” พญ.โรเชลกล่าว
เมื่อถามถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 และการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ พญ.โรเชลกล่าวว่า แม้ตัวเลขติดเชื้อและเสียชีวิตจะน้อยลง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นทั้งจากวัคซีนและการติดเชื้อ แม้จะมีแนวโน้มที่ดี แต่อยากให้ทุกคนรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ต่อไป อย่าง วัคซีนชนิด Bivalent โดยไปรับที่ รพ.
ซึ่งเมื่อใกล้ฤดูหนาวก็มีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น คนก็จะมารับบริการมากขึ้น โดยขอให้คนอายุ 65 ปีขึ้นไปเข้ามารับบูสเตอร์โดส โดยการพัมฯาวัคซีนมีการเดินหน้าตลอดเวลา ไม่เฉพาะแค่โควิด แต่เป็นไวรัสตระกูลโคโรนาทั้งหมด เหมือนพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับในอนาคตเราต้องเฝ้าระวังภัยต่างๆ โดยเสริมศักยภาพห้องปฏิบัติ โรคตดเชื้อจากคนสู่คนและสัตว์สู่คน