Body Shaming คืออะไร ในดราม่า “ลิซ่า BlackPink” และ #LisaApologizeToLiangSen

Home » Body Shaming คืออะไร ในดราม่า “ลิซ่า BlackPink” และ #LisaApologizeToLiangSen



Body Shaming คืออะไร ในดราม่า “ลิซ่า BlackPink” และ #LisaApologizeToLiangSen

โลกโซเชียลถึงคราวลุกเป็นไฟอีกครั้ง เมื่อศิลปินชื่อดัง “ลิซ่า BlackPink” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่เธอล้อเลียน “เหลียงเซิน” หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการ Youth With You Season 3 ที่ต้องโกนผมทั้งศีรษะ โดยชาวเน็ตส่วนใหญ่มองว่า การที่ลิซ่าล้อเลียนรูปลักษณ์ หรือ Body shaming เหลียงเซิน เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม นำไปสู่แฮชแท็ก #LisaApologizeToLiangSen เรียกร้องให้ศิลปินไอดอลชื่อดังผู้นี้ออกมาขอโทษเหลียงเซินทันที

  • ลิซ่า BLACKPINK งานเข้า ถูกชาวเน็ตติง หัวเราะเด็กฝึก “เขาเหมือนอิคคิวซังมาเต้น”

Body Shaming คืออะไร

Body shaming คือการเหยียด ล้อเลียน หรือวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะทางกายภาพของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นความอ้วน ความผอม น้ำหนัก ผมหรือขนตามร่างกายที่มีมากเกินไปหรือไม่มีเลย สีผม หน้าตา หรือแม้กระทั่งการสักหรือเจาะตามร่างกาย รวมทั้งโรคต่างๆ ที่ทิ้งร่องรอยแผลเป็นบนร่างกาย เป็นต้น ซึ่งมักเกิดจากทัศนคติของสังคมที่สร้าง “มาตรฐานความงาม” แบบใดแบบหนึ่งขึ้น เช่น ผู้หญิงสวยต้องมีผิวขาว รูปร่างดี ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป หรือผู้ชายต้องมีรูปร่างกำยำ ไม่อ้วน เป็นต้น ทำให้ผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ตรงกับมาตรฐานความงามดังกล่าวมักจะถูกด้อยค่า ล้อเลียน กลายเป็นตัวตลก ถูกมองข้าม และอาจถูกเลือกปฏิบัติในบางกรณี

ผลกระทบจาก Body Shaming

การล้อเลียนหรือวิจารณ์รูปร่างหน้าตาสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ถูกล้อเลียน ทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองลดลง และก่อให้เกิดโรคทางจิตเวชต่างๆ เช่น พฤติกรรมการกินผิดปกติ โรคซึมเศร้า โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่ถูกกระทำรู้สึกว่าร่างกายของตัวเองไม่ตรงกับมาตรฐานของสังคม ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำและการทำงาน และอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง

นอกจากนี้ แม้จะมีการเรียกร้องให้หยุดการเหยียดรูปร่างหน้าตา และยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคลมากขึ้น แต่การที่สื่อต่างๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย มักจะผลิตซ้ำภาพบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาที่สังคมบอกว่าสวยงาม แม้ไม่ได้มีเจตนาจะสร้างแรงกดดันให้กับคนในสังคม แต่นั่นก็อาจทำให้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะวัยรุ่น พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองมีรูปร่างที่เรียกว่า “ดี” ในสายตาของคนทั่วไป ซึ่งอาจนำไปสู่โรคทางจิตเวชได้เช่นกัน

หยุด Body shaming ทำอย่างไร

  • ยอมรับความแตกต่างของรูปร่างของคนแต่ละคน ระลึกไว้เสมอว่า การวิจารณ์รูปร่างหน้าตาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน สามารถทำให้ผู้ฟังรู้สึกอับอาย และเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ
  • พยายามไม่ทักทายผู้อื่นด้วยคำพูดที่เกี่ยวข้องกับรูปร่างหน้าตา เช่น “อ้วนขึ้นนะ” “ทำไมหน้ามีแต่สิว” รวมทั้งเลิกใช้คำชมหรือพูดคุยเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของผู้อื่น
  • เลิกคิดว่าการวิจารณ์รูปร่างคือการแสดงความห่วงใยเรื่องสุขภาพ เพราะความเชื่อที่ว่าการลดน้ำหนักจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต มักจะมีพื้นฐานมาจาก body shaming ขณะเดียวกัน การวิจารณ์รูปร่างไม่ได้ช่วยให้คนเราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่กลับทำให้รู้สึกแย่ลง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ