กิจกรรมที่ผู้คนในปัจจุบันให้ความนิยม คือ “การวิ่ง” จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบรนด์กีฬาชั้นนำจะพัฒนานวัตกรรมใหม่ และส่งรองเท้าวิ่งสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง
แต่บางครั้ง สิ่งที่ธรรมชาติให้มากลับมีมูลค่า และเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มากที่สุด เพราะมีงานวิจัยมากมายยืนยันว่า “การวิ่งเท้าเปล่า” คือการวิ่งที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุด
Main Stand หยิบยกงานวิจัยเหล่านั้นมาบอกเล่าให้คุณฟัง ถึงเหตุผลที่ทำให้การวิ่งเท้าเปล่าดีที่สุด ไปจนถึงเรื่องราวอีกด้าน ที่ยืนยันว่าการวิ่งลักษณะนี้ สามารถสร้างอาการบาดเจ็บระดับสูงสุดแก่เท้าของคุณได้เหมือนกัน
ประวัติศาสตร์การวิ่งเท้าเปล่า
การวิ่งเท้าเปล่าอยู่คู่กับมนุษยชาติมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า การวิ่งเท้าเปล่า ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ คือตำนานของ ไฟดิปพิดีส วีรบุรุษจากสมัยกรีกโบราณ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอน
เรื่องราวของไฟดิปพิดีสเกิดขึ้นในปีที่ 490 ก่อนคริสตกาล เมื่อกองทัพจากจักรวรรดิอะคีเมนิด (จักรวรรดิแรกของชาวเปอร์เซีย) เดินทางสู่กรุงเอเธนส์ เพื่อโจมตีอาณาจักรกรีกโบราณ ดินแดนเรืองอารยธรรมแห่งคาบสมุทรบอลข่าน
กองทัพของทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่ทุ่งมาราธอน หรือ 26 ไมล์ทางตอนเหนือของกรุงเอเธนส์ มิลเทียดีส นายพลของเอเธนส์รู้ดีว่า กองกำลังของเขามีกำลังพลน้อยกว่าผู้บุกรุกถึงสามเท่า เขาจึงแบ่งนายทหารออกเป็นปีกสองข้าง เพื่อโอบล้อมกองทัพเปอร์เซียไว้ตรงกลาง
แผนการของมิลเทียดีสได้ผล กองทัพของเปอร์เซียหนีตายกันอลหม่าน ชัยชนะในครั้งนี้ถือเป็นข่าวใหญ่ของชาวกรีกทั่วแผ่นดิน มิลเทียดีสจึงสั่งให้ไฟดิปพิดีส วิ่งจากทุ่งมาราธอนกลับสู่กรุงเอเธนส์ เพื่อแจ้งข่าวชัยชนะครั้งนี้
ไฟดิปพีดิสวิ่งเท้าเปล่าเป็นระยะทาง 26 ไมล์ หรือราว 40 กิโลเมตร เพื่อแจ้งข่าวชัยชนะนี้ให้ประชาชนในเมืองหลวงได้รับทราบ หลังทำภารกิจเสร็จสิ้น วีรบุรุษรายนี้ก็สิ้นใจโดยทันที เพราะก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งวิ่งไป-กลับจากกรุงเอเธนส์สู่สปาร์ตา เป็นระยะทาง 225 กิโลเมตร โดยไฟดิปพีดิสพิชิตระยะทางยาวไกลนี้ ด้วยเวลาเพียงหนึ่งวัน
ตำนานการวิ่งเท้าเปล่าของไฟดิปพีดิส ถูกส่งต่อสู่นักวิ่งมาราธอนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็น ชาร์ลส์ ร็อบบินส์ นักกีฬาชาวอเมริกัน เจ้าของแชมป์แห่งชาติ 11 สมัย หรือ อาเบเบ บิกิลา นักวิ่งเหรียญทองชาวเอธิโอเปีย ที่ลงแข่งขันวิ่งมาราธอนในโอลิมปิกปี 1960 ที่กรุงโรม ด้วยการวิ่งเท้าเปล่า
ปัจจุบัน การวิ่งเท้าเปล่ายังคงเป็นที่นิยมในหลายภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเคนยา ดินแดนทางภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา ที่มีเรื่องราวของ เทกลา โลรูเป หญิงสาวที่วิ่งเท้าเปล่าไปโรงเรียน เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร ตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ หรือ ชาติพันธุ์รารามูรี ชนเผ่าทางตอนเหนือของประเทศเม็กซิโก โดยคำว่า “รารามูรี” เป็นภาษาพื้นเมืองโดยมีคำแปลว่า “ผู้มีฝีเท้าเบาดุจขนนก”
การวิ่งเท้าเปล่าจึงยังคงอยู่ในวัฒนธรรมของมนุษยชาติจนถึงปัจจุบัน แต่เหลือแค่ในบางมุมโลกเท่านั้น เพราะในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 การวิ่งด้วยรองเท้ากีฬา กลายเป็นพฤติกรรมอันเป็นที่นิยม และส่งผลถึงมนุษย์ยุคปัจจุบัน
กระแสที่กลับมา
ช่วงทศววรษ 1970s การวิ่งจ็อกกิ้งกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง บริษัทเครื่องแต่งกายกีฬาจากโลกตะวันตก มองเห็นกระแสนี้เป็นโอกาสทองในการทำธุรกิจ พวกเขาพัฒนารองเท้ารุ่นใหม่มากมายออกมาวางขาย พร้อมกับทำการตลาดอย่างหนัก เพื่อดึงดูดผู้คนให้มาสวมใส่รองเท้ากีฬาขณะวิ่ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิ่งส่วนใหญ่ได้รับกลับไม่ใช่สุขภาพที่ดี แต่เป็นอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้าหลังจากการวิ่ง เมื่อกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมากขึ้นและมากขึ้น ผู้คนจึงรู้ชัดว่า สาเหตุหลักที่สร้างอาการบาดเจ็บแก่พวกเขา ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจาก รองเท้ากีฬา
กระแสการวิ่งเท้าเปล่ากลับมาสู่โลกกระแสหลักในปี 2009 เมื่อ คริสโตเฟอร์ แมคโดกอล นักข่าวชาวอเมริกัน เขียนหนังสือ “Born to Run” บอกเล่าประสบการณ์ของเขาที่ร่วมวิ่งเท้าเปล่ากับเผ่ารารามูรี หนังสือกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกสนใจการวิ่งเท้าเปล่า และเริ่มมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ปี 2010 สำนักข่าวรอยเตอร์ออกบทความ “รองเท้าวิ่งที่ดีที่สุดอาจเป็นของธรรมชาติ” (The best running shoe may be nature’s own) ภายในบทความกล่าวว่า ขาส่วนล่างและเท้าของมนุษย์สามารถรับแรงกระแทกจากพื้นโลก และส่งกลับเป็นพลังงานในการวิ่งได้โดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งพื้นรองเท้าจากแบรนด์ราคาแพง
ยิ่งกว่านั้น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดออกงานวิจัยที่ยืนยันว่า การวิ่งเท้าเปล่าดีต่อสุขภาพมนุษย์มากกว่าการใส่รองเท้ากีฬา นักวิจัยค้นพบว่า นักวิ่งที่ใส่รองเท้ากับนักวิ่งเท้าเปล่า จะมีพฤติกรรมขณะวิ่งที่แตกต่างกัน เพราะนักวิ่งที่สวมรองเท้ามักทิ้งน้ำหนักลงไปยังบริเวณข้อเท้า ก่อให้เกิดอาการเจ็บและการชำรุดของข้อเท้าอย่างรวดเร็ว ส่วนนักวิ่งเท้าเปล่าจะทิ้งน้ำหนักบริเวณช่วงกลางหรือปลายของฝ่าเท้า
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การวิ่งโดยทิ้งน้ำหนักลงไปที่ปลายเท้าและบางส่วนบริเวณกลางฝ่าเท้า จะไม่สร้างแรงกระแทกที่รวดเร็วและรุนแรงแบบการทิ้งน้ำหนักลงข้อเท้า ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่วิ่งด้วยปลายและกลางฝ่าเท้า จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพารองเท้าวิ่งที่โฆษณาสรรพคุณตามท้องตลาด แต่สามารถวิ่งเท้าเปล่าได้เลย
แต่ถ้าคุณจะชอบทิ้งน้ำหนักลงพื้นด้วยข้อเท้า การวิ่งเท้าเปล่าก็ยังดีกว่าการสวมใส่รองเท้าอยู่ดี เพราะในปี 2013 สำนักข่าว The Washington Post ได้เปิดเผยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันที่กล่าวว่า นักวิ่งเท้าเปล่าจากประเทศเคนยา ต่างชื่นชอบการทิ้งน้ำหนักไปที่ข้อเท้า เพราะพวกเขามองว่าการวิ่งในลักษณะนี้ จะรักษาความเร็วได้มากที่สุด เพื่อรักษาความเร็วให้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่า นักวิ่งชาวเคนย่าไม่บาดเจ็บบ่อยเหมือนนักวิ่งจากสหรัฐอเมริกาแน่นอน
กระแสการวิ่งเท้าเปล่าจึงพุ่งสู่ขีดสุดในช่วงต้น 2010s มีรายงานว่าชาวอเมริกันใช้เงินราว 59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,800 ล้านบาท เพื่อซื้อรองเท้าแบบ Minimalist หรือ Drop Zero (รองเท้าเพื่อการวิ่งเท้าเปล่า) คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของตลาดรองเท้าวิ่งในปีดังกล่าว
ความนิยมนี้ส่งผลให้การวิ่งเท้าเปล่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2010-2012 ตลาดรองเท้าแบบ Minimalist เติบโตขึ้น 303 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รองเท้าวิ่งแบบปกติกลับเติบโตเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเดียวกัน
ไม่ได้มีแค่ข้อดี
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า การวิ่งเท้าเปล่าสามารถทดแทนการวิ่งโดยสวมใส่รองเท้ากีฬาได้แบบหมดจด แต่ในทางกลับกัน มีหลายงานวิจัยที่ชี้ว่า การวิ่งเท้าเปล่าสามารถสร้างอันตรายแก่สุขภาพเช่นกัน
ดร. ซาราห์ ริดจ์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง ได้ทำการทดลองด้วยการนำบุคคลที่วิ่งเป็นปกติราว 15-30 ไมล์ต่อสัปดาห์ แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะสวมใส่รองเท้าวิ่งที่แตกต่างกันไป โดยกลุ่มที่วิ่งเท้าเปล่า จะค่อยเพิ่มระยะทางอย่างช้าๆ จากหนึ่งไมล์ในสัปดาห์แรก สู่สามไมล์ในสัปดาห์ที่สาม และวิ่งเท้าเปล่าเป็นระยะทางเท่าใดก็ได้นับจากนั้น
หลังเวลาผ่านไป 10 สัปดาห์ ดร.ซาราห์ ได้นำผู้ทดลองทั้งหมดเข้าสแกน MRI เพื่อดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับขาส่วนล่างและเท้าของพวกเขา
ผลปรากฎว่า นักวิ่งทั้งหมดไม่ได้รับการบาดเจ็บใดๆ แต่ผู้ทดลองมากกว่าครึ่งหนึ่งในกลุ่มนักวิ่งเท้าเปล่า กลับมีสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่า พวกเขามีสัญญาณเริ่มต้นที่อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่กระดูกบริเวณฝ่าเท้า
ดร. ซาราห์ แบ่งอาการบาดเจ็บที่กระดูกบริเวณฝ่าเท้าออกเป็นสี่ระดับ ตั้งแต่ 0 ถึง 4 เธอพบว่านักวิ่งที่สวมใส่รองเท้ากีฬา มีอาการบาดเจ็บอยู่ที่ระดับ 1 ส่วนนักวิ่งเท้าเปล่าส่วนใหญ่มีอาการบาดเจ็บอยู่ที่ระดับ 2 และมีถึงสามคนในกลุ่มผู้ทดลองที่มีอาการบาดเจ็บระดับ 3 นั่นหมายความว่า พวกเขามีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ
แย่ที่สุดคือ มีนักวิ่งสองคนในกลุ่มนักวิ่งเท้าเปล่า ที่มีอาการบาดเจ็บระดับ 4 หรือขั้นสูงสุด และต้องเข้ารับการรักษา โดยคนแรกมีอาการบาดเจ็บบริเวณกระดูกข้อเท้า ส่วนอีกคนมีอาการบาดเจ็บกระดูกฝ่าเท้าส่วนกลาง
American Podiatric Medical Association สรุปว่า การวิ่งเท้าเปล่าจะทำให้อวัยวะที่กระทบกับพื้นขาดการป้องกัน ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บหลายรูปแบบ ตั้งแต่ บาดแผลจากผิวหนังภายนอก จนถึงอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่เกิดจากแรงกระแทกที่เพิ่มสูงกว่าปกติ
เมื่อมีงานวิจัยออกมาโต้แย้ง การวิ่งเท้าเปล่าจึงไม่สามารถครองใจคนอเมริกันได้ยาวนาน เพราะหลังจากปี 2012 ยอดขายของรองเท้าแบบ Minimalist ก็ร่วงฮวบ ในทางกลับกัน บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nike ได้ทำการผลิตและพัฒนา “Nike Free Run” รองเท้าวิ่งที่ชูจุดขายการวิ่งแบบธรรมชาติ เพื่อเป็นการตอบรับกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป หลังการกระแสการวิ่งเท้าเปล่าจากหนังสือ Born to Run
จากงานวิจัยทั้งหมดที่กล่าวมา จึงสรุปได้ว่า การวิ่งเท้าเปล่าและการวิ่งแบบใส่รองเท้า ต่างมีข้อเสียด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่จะมากน้อยหรือเกิดขึ้นตรงไหน คงแล้วแต่ประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของแต่ละบุคคล
ถึงอย่างนั้น การวิ่งเท้าเปล่า ยังคงเป็นกิจกรรมทางเลือกของนักวิ่งในปัจจุบัน สำหรับใครที่เบื่อการวิ่งโดยสวมใส่รองเท้า และอยากลองเปลี่ยนบรรยากาศการวิ่งของตัวเอง การวิ่งเท้าเปล่าดูจะเป็นวิธีการที่น่าลองไม่น้อยเลยทีเดียว