“APEC 2022” ไทยได้ประโยชน์อะไร เป็นเจ้าภาพจัดงาน

Home » “APEC 2022” ไทยได้ประโยชน์อะไร เป็นเจ้าภาพจัดงาน
หน้าปกใหม่-Apec

“APEC 2022” หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก คืออะไร ไทยได้ประโยชน์ตรงไหน หลังเป็นเจ้าภาพจัดงาน

APEC 2022 เอเปค คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร ไทยเป็นเจ้าภาพได้ประโยชน์อะไรบ้าง

เอเปค คือเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีเป้าหมายส่งเสริมการเปิดเสรีการค้า-การลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคงของประชาชนในภูมิภาค

เอเปคสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มี (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก ซึ่งทำให้มูลค่าการลงทุนเติบโตระหว่างประเทศภายในกลุ่มสมาชิก APEC อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นำฯ จะมีการประชุม APEC CEO Summit ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน และกิจกรรมเยาวชน APEC Voices of the Future 2022 ระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายน คู่ขนานกันไปด้วย

APEC-2

ชะลอม มาเป็นสัญลักษณ์งานประชุมระดับโลกนี้ได้อย่างไร

ชะลอม คือแบบที่ชนะการประกวด เป็นภาชนะใส่สิ่งของและสื่อถึงการค้าขายของไทยในสมัยก่อน ผู้ออกแบบคือ นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาใช้ชะลอม มาจากความคิดว่าสัญลักษณ์นี้จะต้องสะท้อนถึงความเป็นไทยและตัวตนของเอเปค อีกทั้งชะลอมสื่อถึงหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคในปี 2565 คือ OPEN: ชะลอมมีลักษณะปลายเปิดไว้ใช้ใส่สิ่งของต่าง ๆ จึงเสมือนว่าเป็นการสื่อการค้าลงทุนที่เปิดกว้าง

CONNECT: เพราะชะลอมมีไว้ใส่สิ่งของเพื่อขนส่ง จึงเปรียบได้กับความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค BALANCE: ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติ จึงถือว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระสำคัญของไทยและกำลังผลักดันในเวทีเอเปค 2565 นี้

APEC-3

ไทยได้ประโยชน์อะไร ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022

ไทยได้รับประโยชน์มากมายจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เช่น ได้ใช้ประโยชน์จากการหารือภายใต้กรอบเอเปค ในการแสวงหาความร่วมมือกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้ทันสมัยและเป็นสากล รวมถึงยกระดับการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้พัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า พร้อมทั้งลดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้าระหว่างเขตเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชน เสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทยเข้าสู่ระบบการค้าโลกได้

อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากคณะทำงานของเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเข้าถึงองค์ความรู้จาก Think Tank ที่สำคัญ เช่น Pacific Economic Cooperation Council (PECC) และ Organization for Economic Cooperation and development (OECD)

APEC-2-1

นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมของไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว ภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าดิจิทัล ซึ่งเป็นการฟื้นฟูการเดินทางและการทำธุรกิจแบบพบหน้า ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำอันก่อให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงเป็นโอกาสในการแสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัว และอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 โดยที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ

Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ