รากฐานสำคัญของ “อเมริกันเกมส์” อุตสาหกรรมกีฬาและความบันเทิงที่คนทั่วโลกหลงรัก มีที่มาจากรั้วมหาวิทยาลัย
ด้วยโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาให้เด็กอเมริกันผู้ปรารถนาอยากเข้าสู่ทุกลีกอาชีพในประเทศ ต้องผ่านการคัดกรองด่านแรกจาก NCAA (NATIONAL COLLEGIATE ATHLETICS ASSOCIATION) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่คอยทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน ดูแลส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสู่สนามจริง
กีฬาระดับมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกา จึงได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชม และกลายเป็นจุดหมายสำหรับเยาวชนทุกคนที่ต้องการอยากเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งอเมริกันเกมส์ เพราะนี่คือบันไดก้าวใหญ่ที่พวกเขาจะได้เปลี่ยนชีวิตไปสู่สร้างรายได้ก้อนโต และมีชื่อเสียงดังระดับโลก
แต่บนโลกทุนนิยมที่ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ หลังม่านกีฬามหา’ลัยในอเมริกากลับซ่อนไปด้วยรอยมืดดำ, เอารัดเอาเปรียบ, ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่สะท้อนความจริงอีกด้านซึ่งไม่ได้สวยงามเหมือนฉากหน้า
ต้นตอปัญหา
ทุกประเภทกีฬาในระดับมหาลัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น อเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส หรือ กีฬาอะไรก็แล้วแต่ ต้องอยู่ภายใต้การจัดของ NCAA หรือ NATIONAL COLLEGIATE ATHLETICS ASSOCIATION องค์กรที่ดูแลภาพรวมของตลอดตั้งแต่ปี 1906 โดยเป้าหมายหลักคือการ “ปกป้องเยาวชนจากการแข่งขันที่อันตรายและแสวงหาผลประโยชน์ในเวลานั้น”
ต่อมาในปี 1955 ผู้อำนวยการอย่าง วอลเตอร์ ไบเออร์ส ได้ตั้งกฎข้อแรกที่มีความสำคัญสุดขึ้นมา นั่นคือ ห้ามนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยรับค่าจ้างหรือเงินสนับสนุนในการลงทำการแข่งขันกีฬาทุกประเภท โดยให้สาเหตุใว้ว่า “นักกีฬาเหล่านี้ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ แต่เป็นเพียงแค่มือสมัครเล่น”
กฎข้อนี้ถูก NCAA กำชับอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้นักกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยทุกคน ไม่สามารถรับเงินหรือค่าจ้างจากสถาบัน และยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังรับรายได้จากบุคคลภายนอก หรือสปอนเซอร์ไม่ได้อีกด้วย
ส่วนทาง NCAA มีหน้าที่เก็บเงินทั้งหมดจากตั๋วแข่งขัน ของที่ระลึก ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด รวมถึง สปอนเซอร์ แบบเต็มๆ จำนวนเงินที่เข้าองค์กรในแต่ละปีพุ่งสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
แต่บุคคลในองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลรายรับรายจ่ายเงินจำนวนนี้ กลับถูกปิดบังไม่ให้คนทั่วไปได้ทราบ โดย NCAA เลี่ยงบาลีด้วยการกล่าวเป็นภาพรวมว่า รายได้ในแต่ละปีมีการแบ่งให้ฝ่ายไหนไปใช้บ้าง
ในฤดูกาล 2019-20 เงิน 222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกนำไปมอบเป็นทุนการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการแข่งขันตลอดปี ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับอุปรณ์กีฬา การเดินทางและที่พักอาศัย 153.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแบ่งให้สำหรับค่าดูแลนักกีฬา หากมีอาการบาดเจ็บ 64.5 ล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงจำนวนเงินอีกหลายล้านเหรียญที่ใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นๆอีกมากมาย
แม้ทาง NCAA ได้แบ่งเงินไปให้หลายฝ่ายใช้เพื่อเป็นผลประโยชน์ในการพัฒนาแผนกกีฬาจริง แต่ก็ไม่มีการมอบให้นักกีฬาที่ลงทำการแข่งขันโดยตรง
“เด็กอายุ 17-21 ปี กำลังเสี่ยงร่างกายและชีวิตของตัวเองในสนาม เพื่อความบันเทิงของเหล่านักธุรกิจที่นั่งนับกำไรไปวันๆ โดยไม่ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนเลย” สตีเว่น ก็อดฟรีย์ นักข่าวจาก SB Nation พูดถึงความไม่ยุติธรรม
นอกจากนักข่าวที่เห็นตรงข้ามกับกฎของ NCAA แล้ว ยังมีนักกีฬาอาชีพหลายคนที่ออกมาให้ความคิดเห็นอีก ยกตัวอย่าง เช่น เลบรอน เจมส์ นักบาสสตาร์ดังของทีม แอลเอ เลเกอร์ส
“นักกีฬากับครอบครัวของเขาไม่ได้รับอะไรนอกจากคำว่า ‘ขอบคุณ’ จากสิ่งที่เขาทำ” เจมส์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Washington Post
จ่ายใต้โต๊ะ
เมื่อมีกฎที่ตัดเรื่องการให้ค่าจ้างกับผู้เล่นไป ทุกสถานศึกษาต้องใช้ผลงานในสนาม และสิ่งอำนวยความสะดวกนอกสนาม เป็นสิ่งเย้ายวนและดึงดูดนักกีฬาระดับมัธยมให้เข้ามาเล่น
ดังนั้น มหาวิทยาลัยใหญ่ๆที่มีความสำเร็จทางด้านกีฬาย่อมมีงบประมาณที่เยอะกว่า เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า รวมถึงชื่อเสียงที่โด่งดัง ก็สามารถดึงดูดนักกีฬาที่เก่งๆได้มากกว่าสถาบันที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ
เห็นได้ชัดจากการแข่งขัน College Football Playoff หรือ รอบชิงแชมป์ประเทศของการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลของทุกปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแต่ชื่อสถาบันเดิมๆ เช่น แอละบามา, โอไฮโอ สเตท กับ เคลมสัน เข้ามาแข่ง เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างทีมทุนหนากับสถานศึกษาขนาดเล็กนำไปสู่การผูกขาดในที่สุด
ยกตัวอย่าง ในการดราฟต์ NFL ประจำปี 2016 ผู้เล่น 10 อันดับแรกที่ถูกเลือกเป็นนักเรียนจาก โอไฮโอ สเตท ถึง 3 คน ประกอบด้วย โจอี โบซา แนวรับของ แอลเอ ชาร์จเจอร์ส, อีซีเคียว เอลเลียต ตัววิ่งของ ดัลลัส คาวบอยส์ กับ อีไล แอปเปิล ตัวรับของ นิวยอร์ก ไจแอนท์ส แม้ปีนั้น โอไฮโอ สเตท อาจไปไม่ถึงศึกชิงแชมป์ประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเป็นนักกีฬาของสถาบันการศึกษาใหญ่ๆที่มีชื่อในวงการกีฬาของสหรัฐอเมริกา คือแต้มต่อสำคัญสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ
เมื่อสู้ไม่ได้ด้วยวีธีถูกกฎหมาย ก็กลายเป็นที่มาประโยคสแลงภาษาอังกฤษอย่าง “If you can’t beat ’em, cheat ’em” แปลเป็นไทยว่า “ถ้าคุณไม่สามารถชนะพวกเขาได้ ก็โกงแม่งซะเลย” อธิบายการกระทำของหลายๆมหา’ลัยที่ต้องการดันตัวเองขึ้นมาสู่กับเหล่ามหาอำนาจของวงการ
การจ่ายตังค์ใต้โต๊ะให้กับนักกีฬาจึงเป็นเส้นทางลัดง่ายสุด โดย สตีเว่น ก็อดฟรีย์ นักข่าวจากสำนัก SB Nation ที่ได้ทำการสืบสวนในเรื่องนี้ ให้ข้อมูลว่าสถานศึกษาเหล่านั้นจะทำการจ้าง Bag Man หรือ ผู้ถือเงินกระเป๋าที่มีเงินสด เป็นคนนัดหมาย และมอบเงินสินบนให้กับตัวนักกีฬา
จำนวนเงินสดที่จะจ่าย ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักกีฬาแต่ละคน บางคนถ้ามหาวิทยาลัยต้องการตัวจริงๆ ก็พร้อมที่จะจ่ายเกิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 300,000 บาท ส่วนบางคนอาจจะตกอยู่แค่หลัก 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 150,000 บาท
เคสที่ได้รับความสนใจในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาก็คือ ลีโอ ลูอิส นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของ มิสซิสซิปปี สเตท เจ้าตัวยอมรับว่าตัวเองได้รับเงินสินบนจากหลายมหาวิทยาลัยในช่วงมัธยมปลาย ส่วนมากแล้วจะมาจากโรงเรียนที่ไม่ค่อยได้แชมป์เท่าไร แต่ก็มีพวกมหาอำนาจของวงการกีฬามหาวิทยาลัยอยู่ในนั้นด้วย
“ผมได้รับเงินรวมๆแล้วเป็นจำนวนมากกว่า 21,000 ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงมัธยมปลาย จากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศครับ” ลูอิส เคยกล่าวผ่านสื่อ
การให้เงินใต้โต๊ะ เปรียบเสมือนสัญญาใจระหว่างทางมหาวิทยาลัยกับตัวนักกีฬา ถือเป็นการทำผิดกฏร้ายแรงของ NCAA และหากถูกจับได้ ตัวนักกีฬาที่รับสินบนก็ย่อมมีความผิด ถึงขั้นโดนสั่งห้ามลงเล่นกีฬาระดับมหาวิทยาลัยตลอดอาชีพก็มีมาแล้ว
การที่มหา’ลัยพร้อมเปย์แบบไม่ยั้ง เพื่อให้ได้นักกีฬามัธยมระดับท็อปๆของประเทศเข้ามาสู่ทีม ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะตัวเลขเม็ดเงินที่มีโอกาสทำได้นั้นสูงจนยากที่จะปล่อยผ่าน ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย เท็กซัส ที่โกยเงินไปกว่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2016 จากการลงทำการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล
ทำให้เงินจำนวน 10,000-20,000 เหรียญ เพื่อใช้ในการจ่ายใต้โต๊ะกับนักกีฬาที่จะเข้ามาสร้างรายได้หลักหลายล้านเลยเป็นสิ่งที่คุ้มสุดๆแม้มันจะผิดกติกาก็ตาม แต่ทุกฝ่ายพร้อมเสี่ยงทำมัน
ปั่นเกรด
NCAA ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยทุกคน จึงตั้งกฎขึ้นมาว่า นักกีฬาทุกคนต้องมี GPA ขั้นต่ำอยู่ที่ 2.0/4.0 หรือ ประมาณเกรดตัวเลข C
หากนักกีฬาคนไหนไม่สามารถมีคะแนนเฉลี่ยที่ถึงจำนวนที่ระบุไว้ ก็จะหมดสิทธิ์ทำการลงแข่งทันที นำมาซึ่งการโกงอีกแบบที่เกิดขึ้นบ่อยในห้องเรียน นั่นคือ การปั่นเกรด
เมื่อมาดูคะแนนการเรียนแต่ละประเภทเห็นได้ชัดว่า นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล อยู่ในอันดับท้ายๆที่ประมาณ 2.4/4.0 โดยมีหลายเหตุผลที่ทำให้เกรดเฉลี่ยออกมาค่อนข้างต่ำ
จากผลการวิจัยของสถาบันในระดับดิวิชั่น 1 แห่งหนึ่ง มีการสรุปออกมาว่า นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลใช้เวลาในการซ้อม, ประชุมทีม, เข้ายิม, ดูไฮไลต์ และเดินทาง รวมกันแล้วมากกว่า 3 เท่าของเวลาที่มีให้กับการเข้าเรียน จึงทำให้มหา’ลัยต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้นักกีฬาของตัวเองมีเกรดดีพอสำหรับการลงเล่น
ในปี 2016 NCAA ทำการลงโทษมหาวิทยาลัย มิสซูรี หลังจากพบว่าได้มีการจ้างครูสอนพิเศษช่วยทำการบ้านและข้อสอบให้นักกีฬาของทีมอเมริกันฟุตบอล 12 คน โดยเหตุผลมาจากการที่นักกีฬาเหล่านี้ไม่มีเวลาเข้าคลาสเนื่องจากต้องแบ่งเวลาไปซ้อมกับทีมเพิ่ม
“มหา’ลัยมอบเงินเป็นจำนวน 3,000 เหรียญให้กับฉัน เพื่อเป็นรางวัลในการช่วยให้นักกีฬาทุกคนสอบผ่าน” โยลันดาร์ คูมาร์ ครูสอนพิเศษเปิดเผยความจริงผ่านสื่อ
ในประเทศอื่นๆ เราอาจเห็นครูสอนพิเศษมาช่วยนักกีฬาเพื่อเตรียมพร้อมในการสอบ แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นการช่วยเหลือเฉยๆ ไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือโกงข้อสอบแบบที่เป็นในสหรัฐอเมริกา
การปั่นเกรดเป็นกลยุทธ์มหา’ลัย ต้องทำเพื่อให้นักเรียนโฟกัสกับเรื่องกีฬามากที่สุด เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว ความสำเร็จในสนามแข่งขันให้ผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินมหาศาล พร้อมจะทำการทุจริตเพื่อคว้ามาให้ได้
สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขนาดมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันส่งเสริมเรื่องของการศึกษา ยังพร้อมทำสิ่งผิดกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ในสนามและเม็ดเงิน ส่วนตัวนักกีฬาก็ทำทุกวิธีทาง เพราะหวังว่าความสำเร็จในเวที NCAA จะนำไปสู่การได้ไปเล่นในระดับอาชีพ
การเปลี่ยนแปลง
ปัญหาต้นตอของการโกงทั้งหมดย้อนกลับไปที่องค์กร NCAA ผู้เหมาเงินทุกสตางค์จากการแข่งขันกีฬาระดับมหาวิทยาลัยของอเมริกา ปฏิเสธโอกาสให้นักกีฬาที่เป็นแรงงานหลักในการหารายได้เข้าสู่ NCAA เป็นการตอกย้ำจุดบกพร่องของระบบ แต่ทุกปัญหาก็ย่อมมีทางออก
เสียงเรียกร้องขอความยุติธรรมจากเหล่านักกีฬาช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ดังไปทั่วประเทศ จนเริ่มมีผู้คนจากหลายฝ่ายให้ความสนใจและพร้อมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นทางมหา’ลัยเอง หรือ คนแม้แต่บางส่วนในองค์กร NCAA เอง ได้มีการเริ่มพิจารณาโอกาสของการอนุญาตให้นักกีฬา สามารถมีรายได้จากการลงแข่งขัน และสปอนเซอร์ส่วนตัว
“เรากำลังทำทุกวีถีทางเพื่อสนับสนุนนักกีฬาวิทยาลัย โดยทาง NCAA ได้รับฟังข้อเสนอแนะมากมายจากทางเรา ผมมั่นใจว่าเรากำลังก้าวสู่สิ่งที่จะสร้างความยุติธรรมที่สุดสำหรับตัวนักกีฬา” ไมเคิล เดรค ประธานของมหาลัย โอไฮโอ สเตท ได้กล่าว
ท่าทีปัจจุบัน NCAA เตรียมที่จะเปิดโอกาสให้นักกีฬาหารายได้จากชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และ ความเหมือนของตัวเอง
หมายความว่า ถ้ามีคนนำตัวนักกีฬาไปอยู่ในเกม, ไปถ่ายโฆษณา หรือ ไปวาดภาพ หากออกมาแล้วมีความเหมือนคล้าย ตัวนักกีฬาสามารถหารายได้จากการกระทำดังกล่าวได้ทันทีแบบถูกกฎหมาย
นับเป็นก้าวแรกสู่การพังกำแพงที่ปิดโอกาส ไม่ให้นักกีฬารับผลตอบแทนมาเป็นเวลาเกือบ 70 ปี เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เยาวชนนับหมื่นกว่าชีวิตในแต่ละปีต้องอยู่ในระบบที่ใช้พวกเขาเหมือนทาส คอยเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงเพื่อหาเงินและสร้างผลประโยชน์ให้กับเจ้าของอย่างองค์กร NCAA
ความเจ็บช้ำจากการไม่ได้รับอะไรเป็นค่าตอบแทนกำลังสิ้นสุดลงแล้ว เพราะมีการคาดการรณ์ว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า NCAA จะเปิดโอกาสให้นักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยหารายได้แบบถูกกฎหมาย
ถึงแม้อาจจะมาช้า แต่ก็ไม่มีคำว่า สายเกินไป สำหรับสิ่งที่ถูกต้อง