ชัชชาติ โต้ไม่เกี่ยวเหตุถูกร้องกมธ. มั่นใจความโปร่งใส ป.ป.ช.สรุปไม่มีมูล ยุติไปตั้งแต่ปี 54 ยินดีให้ตรวจสอบ ให้ฝ่ายกม.สอบจงใจทำเสียชื่อเสียง
เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ในนามอิสระ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายอรรถสิทธิ์ กาญจนโอภาษ ร้องประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าโครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และการประเมินมูลค่าความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิว่า ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ตนดำรงตำแหน่งวิศวกรที่ปรึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยให้ทำการศึกษาโครงการ เมื่อ 18 ปีก่อน
ต่อมาทราบภายหลังว่าโครงการถูกตรวจสอบโดย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผลปรากฎว่าไม่มีมูลความผิด และยุติกระบวนการการตรวจสอบไปตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ทั้งนี้ ป.ป.ช. ไม่เคยเชิญตนให้ข้อมูลหรือร่วมกระบวนการตรวจสอบ เนื่องจากไม่ใช่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมูลมูลค่า ทั้งนี้ หากกมธ. ตั้งคณะกรรมการสอบ ตนยินดีให้ความร่วมมือและพร้อมให้ข้อมูลเต็มที่
“เรามั่นใจว่าโปร่งใส และยืนยันว่าเรื่องผ่านไป 18-19 ปีมาแล้ว เราไม่เกี่ยวกับการประเมินราคาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเราไปในฐานะวิศวกรที่ปรึกษา ภายหลัง ป.ป.ช.สรุปแล้วว่าไม่มีมูลและยุติเรื่องไปตั้งแต่ปี 54 จริงๆ เราไม่รู้รายละเอียด เพราะเราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่เคยถูกเชิญไปสอบหรือให้ข้อมูล” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ตนไม่รู้จักนายอรรถสิทธิ์ เป็นการส่วนตัว และไม่ทราบว่าเจตนาที่แท้จริงของการยื่นหนังสือต่อ ประธาน กมธ.ป.ป.ช. หากการกระทำของบุคคลใดที่มีจุดประสงค์ทางการเมือง หรือมีผลต่อความนิยมของผู้สมัครลดลง ถือว่าขัดต่อกฎหมายและมีผลทางอาญา ขณะนี้ให้ฝ่ายงานกฎหมายตรวจสอบ และยืนยันว่าตนพร้อมถูกตรวจสอบ เพราะถือเป็นบุคคลสาธารณะ
ด้านฝ่ายงานกฎหมาย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า นายชัชชาติไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ เป็นเรื่องเก่าที่ยาวนานเกือบ 20 ปี และผ่านการตรวจสอบมาแล้วหลายครั้ง ยินดีพร้อมรับการตรวจสอบและเข้าไปชี้แจงกับกมธ. เชื่อมั่นในความยุติธรรมของกมธ.ป.ป.ช. พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การมาร้องเรียนนี้ จงใจให้เป็นข่าวในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขออย่าให้เป็นการกลั่นแกล้ง เพื่อทำลายชื่อเสียงของผู้สมัคร ซึ่งอาจผิดกฎหมายและมีโทษอาญา ที่สำคัญคือประชาชนต้องมีภูมิคุ้มกัน ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริง