คนกลางคืนรวมตัว ยื่นเรื่องเสนอ นายกตู่ เร่งเปิดสถานบันเทิง ขอเริ่มนำร่อง 26 จังหวัดท่องเที่ยว 1 มิ.ย. 65 เปิดทั่วประเทศ 1 ก.ค. 65
เรียกว่าตั้งแต่มีโรคระบาด โควิด-19 ก็ส่งผลกระทบให้ทุกสายอาชีพ ไม่ว่าจะพ่อค้าแม่ค้า ธุรกิจอาหารต่างๆ รวมไปถึง คนกลางคืน ที่เปิดธุรกิจทั้ง ผับบาร์ คาราโอเกะ ที่โดนปิดมานานพอสมควรจนทำให้คนกลางคืนหลายคนต้องประสบปัญหาในจุดนี้อย่างมาก
แต่งานนี้ คนกลางคืน อาจจะมีลุ้น เนื่องจากล่าสุด (8 พ.ค. 65) ทางเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ คนกลางคืนรวมตัว เตรียมยื่นเรื่องเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เร่งเปิดสถานบันเทิง ขอเริ่มนำร่อง 26 จังหวัดท่องเที่ยว 1 มิ.ย. 65 เปิดทั่วประเทศ 1 ก.ค. 65 โดยระบุว่า
วานนี้ (7 พ.ค. 65) นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการสถานบริการ สถานบันเทิง ร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้รวบรวมปัญหาและข้อเสนอการฟื้นฟูและพัฒนาภาคการท่องเที่ยว รวมถึงแนวทางของภาคเอกชนหลังการเปิดประเทศ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้นำไปพิจารณาในการประชุมศบค.ชุดใหญ่
หนังสือที่ภาคธุรกิจกลางคืน จะเสนอนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จากการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของรัฐอย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากปิดกิจการถาวร เนื่องจากการขาดรายได้และขาดสภาพคล่อง รวมถึงกระทบต่อภาคแรงงาน อีกทั้งอยากให้รัฐเร่งทบทวนอุปสรรคต่อการค้าและการฟื้นตัวด้านกิจกรรม จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อ รัฐบาล และหาทางออกร่วมกัน เพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค รวม 7 ประเด็น
- 1.ยืนยันการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 พร้อมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
- 2.เตรียมพร้อมการเปิดประเทศ โดยบูรณาการการใช้กฎหมายปกติแทนการบังคับใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ภายหลังสิ้นสุดขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 1 มิถุนายนนี้
- 3.อนุญาตให้เปิดกิจการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้รับรองมาตรฐาน SHA Plus หรือ Thai Stop COVID 2 Plus และขอให้เปิดกิจการแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะทดลองตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2565 เฉพาะพื้นที่นำร่องด้านท่องเที่ยว 26 จังหวัด และเปิดดำเนินการทั้งประเทศ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565
- 4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ร่วมกับผู้ประกอบการติดตาม และกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรการโควิดฟรีเซ็ตติ้ง
- 5.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกับผู้ประกอบการ ประชาชนในแต่ละจังหวัดบูรณาการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้และปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธรณสุขและป้องกันโรค
- 6.พิจารณาทบทวนและปรับปรุงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สอดรับกับสภาพการณ์ปัจจุบัน อาทิ ยกเลิกเวลาห้ามขายระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น. และกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืน โดยมีเป้าหมายเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ผลักดันให้ไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความบันเทิงยามค่ำคืนโดยเฉพาะ รวมถึงยกเลิกการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาและหอพักใกล้เคียง และปรับปรุงมาตรการจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ชัดเจน
- 7.ส่งเสริมบทบาทของผู้ประกอบการและบูรณาการด้านความร่วมกันในการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคม และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
ขอบคุณข้อมูลจาก Facebook : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
อ่านข่าวที่น่าสนใจ
- กระติก ว่าไง? ส.ส.เต้ มงคลกิตติ์ เรียกค่าเสียหาย เฉียด 100 ล้านบาท!
- เปิด! ค่าตัว อดีตพระ ‘กาโตะ’ พร้อมขอความเมตตา อาชีพใหม่ หลังสึก
- ทนายเดชา แถลงประเด็นอัยการ จ.นนทบุรี ให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติม 20 ประเด็น