เสนอผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น ชี้20ปีไม่เก็บสูญ1.6หมื่นล้าน

Home » เสนอผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น ชี้20ปีไม่เก็บสูญ1.6หมื่นล้าน


เสนอผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น ชี้20ปีไม่เก็บสูญ1.6หมื่นล้าน

นักวิชาการ เสนอผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กำหนดนโยบายเร่งเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น นำเงินพัฒนากรุงเทพฯ หลังยังไม่ได้เก็บมา 20 ปี สูญรายได้ 16,000 ล้านบาท

วันที่ 28 เมษายน 2565 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น หรือภาษียาสูบองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังไม่ได้ดำเนินการจัดเก็บหลังกฎหมายให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกรุงเทพมหานคร จัดเก็บได้ตั้งแต่ปี 2542 ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.. 2542

ตามมาตรา 25 (5) “ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับยาสูบซึ่งเก็บจากการค้าในเขตกรุงเทพมหานคร โดยออกข้อบัญญัติจัดเก็บเพิ่มได้ไม่เกินมวนละสิบสตางค์ทั้งที่องค์การบริหารจังหวัดทั่วประเทศได้มีการจัดเก็บแล้วตั้งแต่ปี 2546 ในอัตราซองละ 1.86 บาท

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่นตามสิทธิ์ที่กทม. พึงจะได้รับจะทำให้กทม. มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 720 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน กทม. ต้องขาดรายได้ส่วนนี้ไปถึงประมาณ 16,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การที่ กทม. ไม่จัดเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่น ฝ่ายที่ได้ประโยชน์เต็ม ๆ คือบริษัทบุหรี่ที่ไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้

และยังทำให้เกิดช่องว่างให้บริษัทบุหรี่จะนำสินค้ามาพักในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะไม่ถูกเก็บภาษี ก่อนที่ร้านค้าในกรุงเทพฯ จะกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงเพื่อนำขายต่อไป ทำให้รัฐต้องสูญรายได้ และอบจ. ทั่วประเทศก็จะเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ที่ผ่านมากทม. มีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการจัดเก็บภาษียาสูบหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการเสนอร่างฯ แก้ไขระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กทม. สามารถออกข้อบัญญัติให้จัดเก็บภาษียาสูบบำรุงท้องถิ่นได้ ไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

จึงอยากฝากไปยังผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดเป็นนโยบายว่า หากได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อนำเงินรายได้ส่วนที่พึงได้นี้ตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ แก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 น้ำท่วม รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการบริการสาธารณสุข

ผมจะส่งจดหมายพร้อมข้อเสนอแนะเรื่องนี้ให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ทุกท่าน และหลังจากทราบผลการเลือกตั้งแล้ว ทางเครือข่ายควบคุมยาสูบจะขอเข้าพบกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่เพื่อหารือการดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง.นพ.ประกิต กล่าวทิ้งท้าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ