FootNote:สถานะประวิตร วงษ์สุวรรณ บริหาร จัดการ “ความขัดแย้ง”
ทั้งๆที่ดำรงตำแหน่งเป็นเพียงรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมิได้ควบกับตำแหน่งอื่นใดในครม.เหมือน นายอนุทิน ชาญวีรกูล เหมือน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ถามว่าเหตุใดแสงแห่งสปอตไลต์ทางการเมืองจึงฉายจับเงาร่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางอย่างเงียบๆไปตรวจเช็กสุขภาพส่วนตัวยังต่างประเทศ ก็กลายเป็นประเด็นในการตั้งคำถามและต้องการคำตอบ
ทั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เอง
ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มของ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถือกระเช้าดอกไม้ไปอวยพรในวาระแห่งเทศกาลสงกรานต์
ก็กลายเป็นประเด็น ก็กลายเป็นคำถามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา จำเป็นต้องตอบ
สะท้อนให้เห็นถึงสถานะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เด่นชัด
หากมองจากพื้นฐานที่ 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นพี่ใหญ่ภาย ใน “กลุ่ม 3 ป.” ขณะเดียวกัน 1 เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นเสาค้ำยันในตำแหน่งผู้จัดการรัฐบาล
บทบาทและความหมายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ไม่มีอะไรน่าสงสัยและต้องตั้งเป็นคำถาม
แต่ปมเงื่อนซึ่งต้องยอมรับก็คือ นับแต่เดือนกันยายน 2564 เป็น ต้นมาบทบาทของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อันถือว่าเป็น “มือขวา” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้สร้างความเคืองขัด
เป็นความเคืองขัดและหงุดหงิดเป็นอย่างสูงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับต้องปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี
การบริหารความขัดแย้งต่างหากที่ดำรงอยู่การเมืองปัจจุบัน
ตามหลักการคนที่จะต้องบริหารจัดการและคลี่คลายความขัดแย้ง ซึ่งกลายเป็นปัญหาต่อรัฐบาลน่าจะเป็นบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่การณ์กลับกลายเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มากกว่า
ในฐานะเป็นคนกลางระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
จึงยิ่งทำให้ความหมาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แหลมคม