รู้จัก Long COVID! อาการหลังติด โควิด 19 ที่เพศหญิงอาจเสี่ยงกว่าเพศชาย

Home » รู้จัก Long COVID! อาการหลังติด โควิด 19 ที่เพศหญิงอาจเสี่ยงกว่าเพศชาย

รู้ไว้ปลอดภัยกว่ารู้จัก ลองโควิด (Long COVID) อาการที่ตามมาหลังหายป่วยจากโควิด 19 เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ใครเคยเป็นโควิด อ่านด่วน!

นอกจากการติด โควิด 19 ที่หลายๆคนกังวลแล้ว เราทุกคนควรรู้จักกับอาการ ลองโควิด กันด้วย เพราะอาการนี้มักจะตามมาหลังจากหายป่วยจาก โควิด 19ล่าสุด (วันที่ 25 เม.ย. 65) ทางเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้โพสต์ให้ข้อความรู้เกี่ยวกับอาการ Long COVID โดยมีเนื้อหาว่า

ขอบคุณภาพจาก Facebook : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

พร้อมแคปชั่นให้ข้อมูลเพิ่มเติม เนื้อหาดังนี้

  • ‘ลองโควิด’ โอกาสเกิด 20-40% เป็นได้ทุกเพศทุกวัย หญิงเสี่ยงกว่าชาย อาการเกิดได้ตั้งแต่หลายเดือนไปเป็นปี หรือแบบถาวร ขึ้นอยู่กับความผิดปกติ ยังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาแบบเฉพาะเจาะจง นอกจากการป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งถึง ภาวะ ลองโควิดระบุ
“ …การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ภาวะผิดปกติหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เรียกว่า “Long COVID” หรือ “Post-COVID Syndrome” นั้นจะเป็นปัญหาระยะยาว ทั้งต่อคนที่เป็น สมาชิกในครอบครัว/คนรัก/คนใกล้ชิด ที่ทำงาน และสังคมเกิดขึ้นได้ทั้งคนที่เคยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง โอกาสเกิดราว
20-40% ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง ยิ่งหากประเทศใดมีคนติดเชื้อมาก โอกาสเจอผู้ป่วยระยะยาวที่เป็น Long COVID ก็ยิ่งมากเป็นเงาตามตัว แม้มีงานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนครบ จะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะ Long COVID ลงได้ราว 40% แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีนที่ใช้ และถึงแม้จะลดความเสี่ยงลงได้บ้าง แต่พอคูณเป็นจำนวนผู้ป่วยจริง (absolute number) ที่จะเกิดขึ้นก็ยังคงมหาศาล

  • ล่าสุดมีงานวิจัยจาก Taquet M และทีมงาน เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Brain, Behavior, and Immunity วันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา โดยทำการศึกษาแบบเปรียบเทียบย้อนหลังในประชากรของสหรัฐอเมริกา ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงมกราคมถึงสิงหาคม 2564 ที่มีประวัติได้รับและไม่ได้รับวัคซีน จำนวนราวกลุ่มละ 10,000 คน พบว่า อัตราการเกิด Long COVID ไม่ได้แตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการวิจัยขนาดใหญ่ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะได้รับวัคซีนมาแล้วหรือไม่ก็ตาม

Long COVID เกิดได้ทุกเพศ ทั้งชายและหญิง ทุกวัย ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต วัยทำงาน และคนสูงอายุ เพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก ป่วยปานกลางและรุนแรง เสี่ยงกว่าป่วยน้อยและไม่มีอาการ แต่ทุกประเภทจะเกิด Long COVID ได้ทั้งสิ้น ปัจจุบันเชื่อว่ามีกลไกหลายกลไกที่เกิดขึ้นได้

1.การมีการติดเชื้อในร่างกายแฝงอยู่ในเซลล์ของอวัยวะต่างๆ (persistent infection)

2.การติดเชื้อทำให้เกิดกระบวนการอักเสบระยะยาวเรื้อรัง (chronic inflammatory process)

3.การติดเชื้อทำให้เกิดการทำงานอวัยวะ/ระบบต่างๆ ของร่างกายที่ผิดปกติไปจากเดิม (organ dysfunction from viral infection)

4.การติดเชื้อทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (autoantibody)

5.การติดเชื้อทำให้เกิดการเสียสมดุลของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร และส่งผลต่อความผิดปกติของอวัยวะและระบบต่างๆ ตามมา (Dysbiosis)

Long COVID เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายแทบทุกระบบ ตั้งแต่สมอง/ระบบประสาท มีตั้งแต่ความจำเสื่อม คิดวิเคราะห์ลำบากหรือสมรรถนะถดถอยลงกว่าปกติ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ปัญหาการนอนหลับ และความผิดปกติทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า เครียดวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน ไปจนถึงระบบอื่น

ที่หนักหนาและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นคือ ปัญหาด้านหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่กล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อบุหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจหยุดเต้น รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง และการอุดตันของหลอดเลือดตามที่ต่างๆ ระบบหายใจมีปัญหา ทำให้เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อย เพราะมีความผิดปกติของสมรรถนะของปอดและการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ระบบต่อมไร้ท่อ จะเกิดความผิดปกติ ได้แก่ การเกิดโรคเบาหวานในคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงคนที่เคยเป็นเบาหวานมาก่อนก็ประสบปัญหาคุมโรคได้ยากมากขึ้น และปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ

อาการทางระบบอื่นของร่างกาย ได้แก่ อ่อนเพลียอ่อนล้าจนทำงานไม่ไหว ออกกำลังกายไม่ไหว ผมร่วง และอาการปวดที่ต่างๆ ตามร่างกายทั้งกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
อาการเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลายเดือนไปเป็นปี หรือเป็นแบบถาวร ขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้น ยังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาแบบเฉพาะเจาะจง นอกจากการป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ
การป้องกันที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลคือ“ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น”

ขอบคุณข้อมูลจาก Facebook : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ