นครราชสีมา ชาวสวนทุเรียนปากช่องเฮ ดีใจได้ตรา GI รับรองคุณภาพ การันตี ลูกโต เนื้อมาก สีสวย รสหวานกรอบ เล็งจัดงานทุเรียน GI เขาใหญ่ ที่อร่อยอีก 1 แห่งของประเทศไทย 23 เมษายน 2565 – นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายมาโนช รูปสมดี ประธานวิสาหกิจชุมชนทุเรียนและพืชสวน อ.ปากช่อง ร่วมผักดันเกษตรกรชาวสวนผู้ปลูกทุเรียน พื้นที่ อ.ปากช่อง ประมาณ 500 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 20,000 ไร่ ช่วยกันดูแลต้นและผลผลิต พัฒนาคุณภาพ เพื่อให้ได้ทุเรียน ลูกโต เนื้อดี สีสวย แต่ละสวนของกลุ่มผู้ปลูกทุเรียน ในพื้นที่ ต.ปากช่อง ต.จันทึก ต.กลางดง ต.หมูสี ต.หนองน้ำแดง ต.คลองม่วง ต.วังกระทะ อ.ปากช่อง นายมาโนช กล่าวว่า พื้นที่ปลูกทุเรียน อ.ปากช่อง เหมาะมาก ชัยภูมิมีภูเขาล้อมรอบทั่วทุกพื้นที่ ทำให้ดินดี มีอินทรีย์ช่วยบำรุงต้นไม้ รวมทั้งอาการเย็นตลอดทั้งปี มีเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนกันเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดประมาณ 500 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 20,000 ไร่ ไม่รวมกับการปลูกในครัวเรือน บ้านละ 5-10 ต้น ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร เกษตรอำเภอปากช่อง ฝ่ายปกครอง พาณิชย์จังหวัด ลงพื้นที่ตรวจแปลงปลูกทุเรียน แบบอินทรีย์ เพื่อตรวจสอบคุณภาพต่อเนื่องมาโดยตลอดในระยะ 3 ปี จนพบว่า ขนาดลูกโต คุณภาพของเนื้อมาก สีสวย รสหวานกรอบ ฟูใหญ่ ไม่แพ้ทุเรียนจากพื้นที่อื่นในประเทศ ซึ่ง นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ได้ลงพื้นที่ตรวจเพื่อพิสูจน์และชิมรสของทุเรียนในสวนมาแล้ว กระทั่ง กรมทรัพย์สินทางปัญญา เห็นความสำคัญ รับรองคุณภาพหรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ชื่อหรือสัญลักษณ์เฉพาะที่ ใช้ตราเครื่องหมาย GI กับผู้ปลูกทุเรียนปากช่องทั้งหมด 39 ราย ถือเป็นตรารับรองคุณภาพทุเรียนได้มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนปากช่อง ดีใจได้เฮ ปีนี้ถ้าสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น คาดว่าชาวเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนปากช่อง จะมีการจัดงานทุเรียน GI เขาใหญ่ ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ได้นำทุเรียนคุณภาพออกจำหน่าย เพื่อให้ชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทราบว่า อำเภอปากช่องเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนที่อร่อยอีก 1 แห่งของประเทศไทย น.ส.ดวงใจ (จิ๊ก) พุทธศัยยา เจ้าของสวนทุเรียนถ้ำค้างคาวเขาใหญ่ เลขที่ 3 บ้านหนองขี้ตุ่น หมู่ 2 ซอย 10 ต.วังกระทะ อ.ปากช่อง กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจ สวนทุเรียนของตนเองอยู่ใน 1 จาก 39 แปลง ที่ได้ตรา GI รับรองคุณภาพ ตนทำแปลงปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ พื้นที่ปลูก 60 ไร่ จำนวน 3,000 ต้น สายพันธุ์ที่ปลูกพันธุ์ ก้านยาว ชะนี นกหยิบ กระดุม โดยจะเน้น พันธุ์หมอนทองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในปีนี้พบว่าทุเรียนติดลูกดก ได้ผลผลิตดีพอสมควร น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า กำหนดเก็บเกี่ยวได้ 3 รุ่น รุ่นที่ 1 ช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทย ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น ทุเรียนดีมีคุณภาพไม่เอาเปรียบผู้บริโภค