กทม.เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว เติมเต็มศักยภาพสวนสาธารณะ วาระครบรอบ 100 ปี สวนลุมพินี เตรียมปรับปรุง พัฒนา ยกระดับสวนสาธารณะมหานครแห่งอนาคต
22 เม.ย. 65 – ศาลาว่าการกทม. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.มีพื้นที่สีเขียวประเภทสวนสาธารณะและสวนหย่อมรวม 8,917 แห่ง พื้นที่ 25,893 ไร่ 61.05 ตารางวา คิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 7.49 ตร.ม./คน
หากแบ่งตามกลุ่มเขตจะพบว่า กลุ่มกรุงเทพตะวันออก มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรมากที่สุด อยู่ที่ 8.70 ตร.ม./คน รองลงมาคือกลุ่มกรุงธนใต้ 8.26 ตร.ม./คน กลุ่มกรุงเทพเหนือ 7.31 ตร.ม./คน กลุ่มกรุงธนเหนือ 6.68 ตร.ม./คน กลุ่มกรุงเทพกลาง 6.47 ตร.ม./คน และกลุ่มกรุงเทพใต้ 6.36 ตร.ม./คน
จึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะและพัฒนาศักยภาพสวนสาธารณะที่มีอยู่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น สำนักสิ่งแวดล้อม จึงปรับปรุงและพัฒนาสวนลุมพินี เนื่องจากจะมีวาระครบรอบ 100 ปี เพื่อยกระดับสวนลุมพินี ให้เป็นสวนสาธารณะระดับมหานครแห่งอนาคต ส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่ให้สามารถตอบสนองกับการพัฒนาของเมือง และวิถีชีวิตในโลกยุคใหม่ ซึ่งในแผนงานก่อสร้างและปรับปรุงนั้น จะแบ่งการดำเนินการออกเป็นหลายระยะ เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการประชาชน
จากการสำรวจสภาพปัจจุบัน สวนลุมพินี พบว่า อาคาร สถานที่ และองค์ประกอบต่างๆ ภายในสวน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา การจัดพื้นที่ใช้สอยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่สามารถตอบสนองกับการใช้งานตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้อย่างเต็มที่
ประกอบกับแนวความคิดในการออกแบบสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวสาธารณะของเมืองต่างๆ ทั่วโลกนั้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เป็นไปตามสภาพแวดล้อมของเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่เพื่อการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจตลอดจนทำกิจกรรมต่างๆ ของประชาชนแล้ว สวนสาธารณะยังทำหน้าที่ช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเมืองอีกด้วย
อาทิ การใช้สวนสาธารณะเป็นพื้นที่สำหรับหน่วงน้ำ หรือชะลอน้ำฝนก่อนปล่อยออกสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะของเมืองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม การเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ (Construct wetland) เพื่อสร้างระบบนิเวศเมืองให้มีความสมบูรณ์ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ระบบหมุนเวียนน้ำในสวนโดยใช้ระบบชีววิศวกรรม (Bioengineering) มาบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ได้อีกครั้ง ทำให้ช่วยลดการใช้น้ำประปา
นอกจากนี้ต้นไม้ใหญ่และพืชพรรณต่างๆ ที่อยู่ในสวนสาธารณะยังช่วยลดอุณหภูมิของเมือง ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศและดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน