กระแส Me Too เกิดในเมืองไทยแล้ว จากการที่มีผู้เสียหายเปิดตัวเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ว่าถูกอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ล่วงละเมิดทางเพศ มากถึง 18 ราย
Me Too ในแง่คดีความ หมายถึงการที่ผู้เสียหาย ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจอับอาย กลัวจะไม่ได้รับความยุติธรรม หรือเกรงจะยิ่งถูก “ข่มขืนซ้ำ” ในกระบวนการทางกฎหมาย หากพยายามดำเนินคดีกับผู้ล่วงละเมิดทางเพศที่มีสถานะเหนือกว่า เปลี่ยนใจกล้าออกมาต่อสู้ทวงความยุติธรรม หลังจากที่มีคนริเริ่มเปิดโปง ทำให้ตระหนักว่าไม่ใช่มีแค่ตัวเองคนเดียวเท่านั้น ยังมีคนอื่นร่วมชะตากรรม Me Too “ฉันก็ถูกกระทำด้วย”
ในทางสังคม Me Too กว้างกว่านั้นเพราะเป็นกระแส Empower ให้ผู้หญิงหรือผู้อ่อนแอกว่าลุกขึ้นมาต่อต้านการล่วงละเมิด ต่อสู้ให้เกิดการเคารพสิทธิ เคารพความเท่าเทียม ระหว่างหญิงชาย หรือระหว่างเพศสภาพที่หลากหลาย
ว่าที่จริง นี่ควรจะเป็นเรื่องที่สังคมไทยตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะที่ผ่านมา ดูเหมือนสังคมไทยเปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมสิทธิสตรี จนมีปลัดกระทรวง อธิบดี เป็นผู้หญิงมาแล้วหลายราย (แต่พอมีนายกฯ หญิงกลับถูกดูหมิ่นเสียๆ หายๆ)
พอเกิด Me Too จริงๆ กลับถูกความคิดชายเป็นใหญ่ตั้งแง่ ด้อยค่า แบบสมาคมสื่อจังหวัดหนึ่ง “ถูกข่มขืนหรือสมยอม ทำไมไม่แจ้งความตอนเกิดเหตุ” หรืออดีต ส.ส.อ้างว่า ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง ผู้หญิงบางคนไม่ใช่เหยื่อแต่เป็นนักล่า
ไม่ยอมเข้าใจเลยหรือว่า แม้แต่ในอเมริกา การที่ผู้หญิงออกมาร้องว่า “ถูกข่มขืน” ต้องอาศัยความกล้าหาญขนาดไหน ที่จะเปิดหน้าต่อสังคม เมื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ก็ต้องให้การในศาล ต้องถูกซักค้านโดยทนาย เปรียบเสมือนถูกข่มขืนซ้ำ โดยถ้าหลักฐานไม่มัดคอแบบมีกล้องมีบาดแผล ฯลฯ จำเลยก็หลุดได้ง่ายๆ
แม้ผู้ชายเป็นคนทั่วไป ผู้หญิงก็เสียเปรียบตั้งแต่ต้น ถ้าเป็นคนมีเงิน มีตำแหน่ง มีเกียรติ มีคอนเน็กชั่น มีเงินจ้างทนาย ยิ่งแล้วใหญ่ “ใครจะเชื่อคุณ”
เหมือนในอเมริกาที่ Bill Cosby พิธีกรคนดัง ที่มีภาพลักษณ์ “ดีงาม” ถูกผู้หญิง 60 กว่าคนร้องว่าล่วงละเมิด Harvey Weinstein ก่อนถูกแฉจนติดคุกคืออัจฉริยะนักสร้างหนังออสการ์
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่า ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ผิดแหงๆ เพราะทางกฎหมายยังเป็นแค่ถูกกล่าวหา เพียงแต่การที่คนในพรรคประชาธิปัตย์ ในกลุ่มไลน์ แฉว่าอดีตหัวหน้ามาร์คเคยทักท้วง หัวหน้าใหม่กลับไม่ฟัง ก็เท่ากับปริญญ์จบแล้วทางการเมืองทางสังคม
ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศมี 2 ด้าน คือทางสังคม(+การเมือง) กับทางกฎหมาย ซึ่งเอาผิดได้ไม่ง่าย ขณะเดียวกันก็มี 2 มุม คืออาจเกิดการกล่าวหาด้วยความเข้าใจผิด ด้วยอคติ หรือแม้แต่หวังผลประโยชน์ จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยเช่นกัน
ทั้งสองด้านสองมุมเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง คือบางครั้งอาจเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้แต่ลงโทษด้วยมาตรการทางสังคม แต่บางราย มาตรการทางสังคมก็ฟังความข้างเดียวแล้วโหมกระหน่ำ
ปัญหาการเคารพสิทธิเท่าเทียมทางเพศ เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย หากย้อนมองว่าทำไม ม็อบคนรุ่นใหม่ชูสามนิ้วใน 2 ปีที่ผ่านมา จึงมี “แถวหน้า” เป็นเด็กผู้หญิง และ LGBTQ ร้อนแรงยิ่งกว่าผู้ชาย
นั่นเพราะทัศนะของคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับ “ศีลธรรมใหม่” ที่หากพูดเฉพาะหญิงชาย ก็ไม่ใช่แค่ “ผัวเดียวเมียเดียว” แต่ต้องเคารพให้เกียรติกันและกัน ไม่ใช่เห็นผู้หญิงเป็นแค่เครื่องบำเรอ (อันที่จริง ศีลธรรมเก่าก็ไม่ยอมรับเช่นกันแต่ดันรูดซิปปาก)
ศีลธรรมใหม่ของคนรุ่นใหม่ อยู่บนหลัก 2 ประการคือ เสรีภาพ และสิทธิเท่าเทียม หมายความว่าพวกเขาไม่ได้ยึดถือจารีตที่บีบผู้หญิง “รักนวลสงวนตัว” แต่ “รักนวลสงวนตัว” คือสิทธิเสรีภาพ
เหมือน “มิลลิ” ให้สัมภาษณ์วู้ดดี้ เซ็กซ์กับความรักมาคู่กัน แต่ต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจ ถ้าอีกฝ่ายไม่พร้อม ไม่อยาก ก็ต้องเคารพการตัดสินใจ การโดนข่มขืนจากคนที่ตัวเองรักไม่ใช่เรื่องที่ดี
ในขบวน “สามนิ้ว” ก็เคยมีกระแสวิพากษ์ “ข่มขืนในนักกิจกรรม” ซึ่งสลิ่มฟังคงเข้าใจว่าไอ้พวกม็อบทุบหัวผู้หญิงลากไปข่มขืนซอกตึก แต่กรณีที่เกิดคือ หนึ่ง ผู้ชายใช้อุบายขอไปพักด้วย แล้วตื๊อจนผู้หญิงยอม สอง เป็นแฟนเก่ากัน รบเร้าจนผู้หญิงรำคาญ สาม บอกให้ใส่ถุงไม่ใส่
ทั้งหมดนั้นขึ้นศาลไม่ผิด แต่คนรุ่นใหม่ถือว่า “ไม่เคารพสิทธิ = ข่มขืน” เป็นศีลธรรมใหม่ที่ไปไกลกว่ากฎหมายและมาตรฐานเดิมของสังคม (กรณีหลังที่จริงมีข้อโต้แย้งว่า รีบประณามแบบฟังความข้างเดียว ฝ่ายชายโดนรุมถล่มถึงพ่อแม่)
ทัศนะใหม่ขัดแย้งรุนแรงกับอำนาจจารีต ซึ่งกดทับสองชั้นทั้งเป็นเผด็จการ (ทหาร รัฐราชการเป็นใหญ่) และชายเป็นใหญ่ ในขณะที่ LGBTQ ก็เป็นอีกชั้นที่ยิ่งไม่ได้ความเท่าเทียม รัฐไม่เข้าใจว่าข้อเรียกร้อง “สมรสเท่าเทียม” ไม่ใช่แค่สิทธิประโยชน์ แต่หมายถึงเท่าเทียมทุกเพศในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
กรอบจารีตนิยมไทยในเรื่องเพศ ยังล้าหลังเหมือนยุคกึ่งพุทธกาล ทั้งที่โลกไปถึงไหนแล้ว มันจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความขัดแย้งรุนแรง