นายกฯ ขอสถานศึกษา เตรียมพร้อมเปิดภาคเรียน พ.ค.นี้ ให้มีความปลอดภัย เข้มมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ป้องกันการแพร่ระบาดในเด็ก
เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ขอให้สถานศึกษาทุกสังกัด เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในเดือนพ.ค.นี้ ให้มีความปลอดภัยตามมาตรการสาธารณสุขในโรงเรียน เน้นจัดการเรียนการสอนทั้งในรูปแบบออนไซต์ ออนไลน์ และแบบผสมผสาน เตรียมอาคารสถานที่ ครูและสื่ออุปการณ์การเรียนการสอน ให้พร้อมจัดการเรียนการสอนในทุกรูปแบบ โดยกำชับกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้เขตพื้นที่การศึกษา ติดตาม ดูแล ป้องกันการเกิดปัญหาวิกฤตหลังเปิดภาคเรียน
นายธนกร กล่าวว่า สำหรับมาตรการความปลอดภัย 6-6-7 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงโควิด-19 ในสถานศึกษา ประกอบด้วย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด ส่วน 6 มาตรการเสริม ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง
ส่วนแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา 1.ประเมิน TSC+ และรายงานผลผ่าน MOE COVID อย่างต่อเนื่อง 2.Small Bubble ทำกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย 3.อาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4.อนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ความสะอาด น้ำ ขยะ 5.School Isolation มีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม 6.Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน และ 7.School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษาได้รับวัคซีนจำนวนมากที่สุดอย่างน้อย 85%
นายธนกร กล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรเน้นย้ำลูกหลานที่ไปโรงเรียนว่า ไม่ควรถอดหน้ากากอนามัย ไม่ลืมตรวจ ATK ไม่เล่นเป็นทีมหรือกลุ่มใหญ่ ไม่นั่งติดกันทั้งเวลาเรียน คุยเล่น ทานข้าว และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน สำหรับการเรียนภายในห้องเรียนต้องนั่งเรียนแบบมีการเว้นระยะ รวมถึงไม่เปิดแอร์เรียนนานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องเปิดหน้าต่างระบายอากาศ
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ วันที่ 21 เม.ย. รวม 21,931 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 21,816 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 115 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,882,795 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) หายป่วยกลับบ้าน 24,619 ราย หายป่วยสะสม 1,721,418 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 188,926 ราย เสียชีวิต 129 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,021 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 26 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 25.1