ผอ.ทอ. สั่งสนับสนุน อากาศยาน ดับไฟป่า สำรวจจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือ

Home » ผอ.ทอ. สั่งสนับสนุน อากาศยาน ดับไฟป่า สำรวจจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือ


ผอ.ทอ. สั่งสนับสนุน อากาศยาน ดับไฟป่า สำรวจจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือ

โฆษกกองทัพอากาศ เผย พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผอ.ทอ. สั่งสนับสนุน อากาศยาน ดับไฟป่า บินสำรวจจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือ

วันที่ 19 เม.ย.2565 พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า ในห้วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของทุกปี ภาคเหนือของไทยมักจะประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมีสถิติพบจุดความร้อนในพื้นที่ป่ามากกว่าปกติ จึงได้มีการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการปฏิบัติภารกิจดับไฟป่า เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าและคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับการปฏิบัติของกองทัพอากาศในปีนี้ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ จัดอากาศยานพร้อมกำลังพลของกองทัพอากาศ เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบินดับไฟป่าและบินสำรวจจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ตามที่กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ร้องขอ

ทั้งนี้ กองทัพกาศได้จัดอากาศยาน พร้อมด้วยชุดอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่สำหรับปฏิบัติภารกิจ ได้แก่
เครื่องบินไร้คนขับตรวจการณ์และฝึกแบบที่ 1 (UAV แบบ RTAF U1) ฝูงบิน 301 กองบิน 3, เครื่องบินตรวจการณ์และฝึก แบบที่ 20 (DA-42 MNG) ฝูงบิน 402 กองบิน 4, เฮลิคอปเตอร์แบบที่ 11 (EC-725) หน่วยบิน 2033 ฝูงบิน 203 กองบิน 2 ศูนย์สนับสนุนทางอากาศโดยตรงที่ 3 (ศสอต.3) ชุดเจ้าหน้าที่ควบคุมทางอากาศยุทธวิธี, เจ้าหน้าที่แปลความภาพถ่ายทางอากาศ, เจ้าหน้าที่สนับสนุนอื่นๆ

โดยวางกำลัง ที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15 มี.ค.-30 เม.ย. 2565 หรือจนกว่าสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันจะคลี่คลาย สำหรับการปฏิบัติดังกล่าว กองทัพอากาศใช้ระบบเครือข่ายเป็นศูนย์กลาง โดยใช้ระบบตรวจจับ (Sensor) จากอากาศยาน เพื่อค้นหาจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นแหล่งกำเนิดไฟป่า

โดยทำการบูรณาการสัญญาณภาพจากระบบตรวจจับทุกส่วน รวบรวมส่งให้ส่วนบัญชาการซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ผู้บัญชาการสถานการณ์และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ทราบถึงพิกัด และเข้าควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ

โดยบูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และพลเรือนอาสา ในการเข้าดับไฟหรือสกัดการลุกลามของไฟป่า ส่งผลให้สามารถควบคุมจุดความร้อนที่เกิดขึ้นได้ ป้องกันการเกิดไฟไหม้ป่าขนาดใหญ่ และลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมของเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก หรือ BT-67 ฝูงบิน461 กองบิน 46 ในการเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบินดับไฟป่าหากได้รับการร้องขอเพิ่มเติมอีกด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ