FootNote:การปะทะอะนาล็อกกะดิจิทัล รูปธรรมจากปรากฏการณ์มิลลิ
ยิ่งกระแสอันเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์มิลลิ” ขึ้นสู่กระแสสูงพร้อมกับการทะยานขึ้นของ “ปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วง” ความสนใจต่อ “ซอฟท์พาวเวอร์” ยิ่งกลายเป็นประเด็น
คำถามมิได้อยู่ที่ว่า อย่างไรคือสภาพความเป็นจริงในทางรูป ธรรมของ “ซอฟท์ พาวเวอร์”เพียงอย่างเดียว
หากแต่อยู่ที่ท่าทีและกระบวนการเชิง “นโยบาย” ของรัฐบาล
ความแหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ ความสำเร็จของ “น้องมิลลิ” ที่สามารถทะยานไปเสนอความสามารถในเวทีระดับโลกอย่างโคเชลลา มีรากฐานมาอย่างไร
มาจากบทบาทของ “รัฐบาล” อันหมายถึงบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ บทบาทของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งพร่ำพูดในเรื่องของ “ซอฟท์ พาวเวอร์” ติดอยู่กับสองริมฝีปากหรือไม่
คำตอบของเรื่องนี้ไม่เพียงแต่จะสะท้อนออกจากกระแสต่อปรากฏการณ์ “น้องมิลลิ” ที่ยึดครองอันดับ 1 ในเทรนด์ของทวิตเตอร์อย่างรวดเร็วเท่านั้น
หากแสงแห่งสปอตไลต์ยังฉายจับไปยัง “นายกรัฐมนตรี”ด้วย
ไม่จำเป็นต้องถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีท่าทีอย่างไรต่อการดำรงอยู่ในฐานะ “ศิลปิน นักร้องเพลงแร็พ” ของ “น้องมิลลิ” ในทางเป็นจริง
เพราะก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีก็เคยมีคำสั่งให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีไปฟ้องร้องกล่าวโทษ “น้องมิลลิ” มาแล้วที่สน.นางเลิ้ง
อาการพะอืดพะอมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อจำเป็น ต้องออกมาพูดถึง “ปรากฏการณ์น้องมิลลิ” จึงดำเนินไปในลักษณาการแห่ง “น้ำท่วมปาก”
กลายเป็นว่าแทนที่จะเน้นอย่างหนักแน่นไปยัง “ซอฟท์พาวเวอร์” กลับต้องพะวงอยู่กับคำว่า “ซอฟท์แวร์” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“นายกรัฐมนตรี” เป็นเช่นนี้ “รัฐมนตรี” ก็เป็นเช่นนี้
ในความเป็นจริงแล้ว “ปรากฏการณ์น้องมิลลิ” คือรูปธรรมแห่งการปะทะและขัดแย้งในทางวัฒนธรรม “ความคิด” อันดำรงอยู่และรอวันปะทุขึ้นภายในสังคมไทย
นั่นก็คือ การปะทะระหว่าง “อะนาล็อก” กับ “ดิจิทัล”
น่าเศร้าก็ตรงที่รัฐบาลพร่ำพูดถึง “เศรษฐกิจดิจิทัล”จากเช้าจรดเย็นแต่ความรับรู้และความเข้าใจยังจมอยู่กับ “เศรษฐกิจอะนาล็อก”
ไม่ว่าจะเป็น “นายกรัฐมนตรี” ไม่ว่าจะเป็น “รัฐมนตรี”