เผยบิ๊กตู่ ห่วงเด็ก ๆ ระวังโดนหมากัด เหตุอากาศร้อน สัตว์หงุดหงิดง่าย

Home » เผยบิ๊กตู่ ห่วงเด็ก ๆ ระวังโดนหมากัด เหตุอากาศร้อน สัตว์หงุดหงิดง่าย


เผยบิ๊กตู่ ห่วงเด็ก ๆ ระวังโดนหมากัด เหตุอากาศร้อน สัตว์หงุดหงิดง่าย

เผยพล.อ.ประยุทธ์ ห่วงใยเด็ก กลัวโดนหมากัด เหตุอากาศร้อน สัตว์หงุดหงิดง่าย ขออย่าไปยุ่งกับหมาแมวที่ไม่รู้จัก สั่งหน่วยงานเร่งป้องกันแล้ว

วันที่ 16 เม.ย. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนที่ต้องเจออากาศร้อน และสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่ระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะเด็ก ๆ ให้ระวังมากเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในช่วงปิดเทอม ขออย่าไปเล่นสุนัขหรือแมวที่ไม่รู้จัก เพราะอากาศร้อน อาจทำให้สัตว์เหล่านี้หงุดหงิดง่าย

โดยทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและบุตรหลาน ไม่ให้ถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน เพราะมีความเสี่ยงอาจทำให้ติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ รวมถึงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัข หรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อพิษสุนัขบ้า ขณะที่กรมปศุสัตว์ก็ได้ดำเนินการในการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง

โดยโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอันตรายติดต่อได้ทั้งสัตว์และคน เป็นแล้วไม่มีทางรักษา ทางที่ดีที่สุดคือการควบคุมและป้องกันการเกิดโรคเท่านั้น กรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือผู้เลี้ยงสัตว์ทุกคนเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ไม่ปล่อยวิ่งในที่สาธารณะ โดยขาดผู้ดูแล และไม่นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยทิ้งให้เป็นปัญหาต่อสังคมในอนาคต รวมทั้งให้พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละ 1 ครั้ง

กรมควบคุมโรคได้ย้ำคำแนะนำ 5 ย. ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า คือ อย่าแหย่สัตว์ อย่าเหยียบบริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ อย่าแยกสัตว์ที่กำลังกัดกัน อย่าหยิบอาหารขณะสัตว์กำลังกิน และอย่ายุ่งกับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย หากถูกสุนัขหรือแมว กัด ข่วน ขอให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลาย ๆ ครั้งอย่างเบามือ ใส่ยาฆ่าเชื้อ หรือโพวิโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีอาจใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่น ๆ ที่บาดแผลทันทีหลังล้างแผลเสร็จ

จากนั้นไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน เพื่อวินิจฉัยและพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และให้กักสุนัข-แมว 10 วันเพื่อสังเกตอาการ หากสัตว์ตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ และสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงขอให้พาสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดเป็นประจำทุกปี

สำหรับรายงานผลบวกโรคพิษสุนัขบ้า 30 วันย้อนหลัง (ตั้งแต่ 16 มี.ค. – 15 เม.ย.) ได้แก่ จ.สงขลา ผลบวก 4 หัว 57.15% และอีก 3 จังหวัดคือ สมุทรปราการ พะเยา ชลบุรี มีผลบวกจังหวัดละ 1 หัว 14.29% ขณะที่ 10 อันดับพื้นที่เกิดโรคพิษสุนัขบ้าสูงสุด 30 วันย้อนหลัง (ตั้งแต่ 16 มี.ค. – 15 เม.ย.) ได้แก่ จ.สงขลา สมุทรปราการ พะเยา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานว่าในปี 2565 นี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 รายเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาที่จังหวัดชลบุรี โดยมีประวัติสัมผัสกับสุนัขของเพื่อนบ้านที่นำมาฝากเลี้ยงข่วน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ