โควิดสเตลธ์กระจายทั่วโลก ทำยอดติดเชื้อใหม่ดีดตัว-นักวิทย์จับตานิวเวฟ

Home » โควิดสเตลธ์กระจายทั่วโลก ทำยอดติดเชื้อใหม่ดีดตัว-นักวิทย์จับตานิวเวฟ


โควิดสเตลธ์กระจายทั่วโลก ทำยอดติดเชื้อใหม่ดีดตัว-นักวิทย์จับตานิวเวฟ

โควิดสเตลธ์กระจายทั่วโลก ทำยอดติดเชื้อใหม่ดีดตัว-นักวิทย์จับตานิวเวฟ

โควิดสเตลธ์กระจายทั่วโลก – วันที่ 29 มี.ค. รอยเตอร์รายงานว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน ชนิด BA.2 หรือสเตลธ์ สามารถพบการแพร่กระจายได้ทุกพื้นที่ทั่วโลกแล้ว ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกดีดตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

นักวิทยาศาสตร์ สันนิษฐานว่า เชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน ชนิดสเตลธ์ (ล่องหน) เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในหลายประเทศทั้งทวีปเอเชีย และยุโรปกลับมาดีดตัวสูงขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งสร้างความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดระลอกใหม่ในสหรัฐอเมริกาด้วย

แพร่กระจายได้รวดเร็วยิ่งกว่าเดิม

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน ชนิด BA.2 คิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบร้อยละ 86 ที่พบในผู้ติดเชื้อใหม่ มีความสามารถในการแพร่กระจายและติดต่อได้ดีมากกว่าโอมิครอนดั้งเดิมอย่างชนิด BA.1 และ BA.1.1 แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าก่อโรครุนแรงกว่าเดิม

เชื้อชนิดใหม่นี้ยังทำให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีประสิทธิภาพที่ถูกบั่นทอนลงอีก เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้าอย่างอัลฟ่า หรือดั้งเดิมจากนครอู่ฮั่น ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการป้องกันสามารถกลับมาดีได้หากได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้น

ภาพรวมทั่วโลก

ปัจจุบัน เชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน ชนิด BA.2 ถูกสันนิษฐานว่าเป็นสาเหตุหลักของการระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป อาทิ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ส่งผลให้บางชาติเริ่มมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้น

สาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์ขนานนามให้ชนิด BA.2 ว่าสเตลธ์ ที่แปลว่าล่องหน เนื่องมาจากเชื้อชนิดนี้ตรวจพบได้ยากกว่าโอมิครอนดั้งเดิม ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธี PCR แต่จะตรวจพบได้ด้วยกระบวนการวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์ของสารพันธุกรรม ซึ่งไม่ถูกใช้แพร่หลายมากเท่า PCR

ติดแล้วติดอีกได้?

หนึ่งในข้อกังวลหลักของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชนิด BA.2 คือ ความสามารถในการติดซ้ำในบุคคลที่เคยติดเชื้อโอมิครอนดั้งเดิมมาแล้ว หลังหลายชาติพบปรากฏการณ์จุดสูงสุดแบบสองครั้งซ้อน โดยเชื้อทั้งสองชนิดนั้นมีอัตราการระบาดไล่เลี่ยกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรและเดนมาร์ก พบว่า แม้เชื้อโอมิครอนจะสามารถติดซ้ำในผู้ที่เคยติดเชื้อกลายพันธุ์อื่นมาก่อน เช่น เดลต้า ได้ แต่ยังพบผู้ติดเชื้อชนิด BA.2 ที่เคยติด BA.1 (โอมิครอนดั้งเดิม) ได้น้อยมาก (ประมาณ 1 ในหลายหมื่นคน)

นักวิทยาศาสตร์ คาดว่า คำอธิบายที่สมเหตุสมผลที่สุดของการระบาดของเชื้อชนิด BA.2 คือ การระบาดนั้นเกิดขึ้นอยู่ในระหว่างที่หลายประเทศทั่วโลกยุติมาตรการชะลอการระบาด

ดร.แอนดรูว์ เปกอสซ์ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “เชื้อชนิดนี้น่าจะแพร่ระบาดอยู่แล้วโดยที่เราไม่ทราบ หรืออาจจะระบาดพอดีในช่วงที่พวกเราเริ่มเลิกสวมหน้ากากอนามัยกันน่ะครับ”

ทั้งนี้ ไม่ว่าสาเหตุของการระบาดจะคือเหตุใด แต่การมาถึงของ BA.2 สะท้อนว่าไวรัสก่อโรคโควิด-19 นั้นยังคงมีอันตราย โดยเฉพาะต่อบุคคลที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน หรือได้รับไม่เพียงพอ รวมถึงกลุ่มเสี่ยง นับว่าโรคโควิด-19 ยังเป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุข และยังไม่มีทีท่าสงบลง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ