4 ข้อต้องรู้ เมื่อถูกตำรวจจับ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคดีจะได้รับความเป็นธรรม?

Home » 4 ข้อต้องรู้ เมื่อถูกตำรวจจับ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคดีจะได้รับความเป็นธรรม?


4 ข้อต้องรู้ เมื่อถูกตำรวจจับ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคดีจะได้รับความเป็นธรรม?

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดี พร้อมเสนอข้อปฏิรูปการสอบสวนทางอาญา 9 ข้อ

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า เมื่อถูกตำรวจจับกุมไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม การจะดำเนินคดีต้องผ่านขั้นตอนดังนี้

  1. แจ้งข้อหา เพื่อให้รู้ว่า จะถูกดำเนินคดีในข้อหาอะไร
  2. สอบปากคำผู้ต้องหา เพื่อให้มีโอกาสได้ให้ข้อเท็จจริงจากฝั่งของเรา
  3. สอบปากคำพยาน เพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่าทำผิดจริงหรือไม่
  4. สรุปสำนวน เพื่อตัดสินใจว่าจะส่งฟ้องหรือไม่

งานนั่งโต๊ะของตำรวจเหล่านี้เรียกรวมว่า “งานสอบสวน” ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำงานสำหรับทุกคดี ในประเทศที่กระบวนการยุติธรรมพัฒนาแล้ว การแจ้งข้อหาหรือดําเนินคดีกับใคร จะต้องปรากฏพยานหลักฐานชัดเจนว่า คนนั้นเป็นผู้กระทําความผิดและมีพยานหลักฐานเพียงพอ

งานสอบสวนที่ควรจะเป็น คือ ตำรวจต้องแสวงหาพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อ “ค้นหาความจริง”
สำหรับพิสูจน์ทั้งความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาแต่ในทางปฏิบัติ ตำรวจที่ทำหน้าที่สอบสวนยังมุ่งรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดแก่ผู้ถูกกล่าวหาในทำนอง “เค้นหาความจริง” มากกว่าการ “ค้นหาความจริง” ทำให้ “คนบริสุทธิ์” ตกเป็นผู้ต้องหาและถูกส่งฟ้องต่อศาลมากมาย

บ่อยครั้งนําไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชน ทำให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรม และทำให้ภาพของตำรวจและกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับประชาชนทั่วไป

ตามสถิติของสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545-2563 รัฐบาลยังต้องใช้จ่ายงบประมาณมากกว่า 521,239,772 บาท (ห้าร้อยยี่สิบเอ็ดล้านบาท)
หรือเฉลี่ยปีละ 27 ล้าน เพื่อเป็นค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยคดีอาญา จำนวน 2,396 คน ซึ่งถูกฟ้องและถูกคุมขังโดยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด

หนึ่งในสาเหตุของเรื่องนี้ เพราะระบบของประเทศไทยเอา “งานสอบสวน” ทั้งหมดฝากไว้ในมือของตำรวจ และเอา “งานฟ้องคดี” ทั้งหมดมอบให้อัยการ ชนิดแยกขาดจากกัน อัยการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ไม่มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงและค้นหาพยานหลักฐานตั้งแต่ต้น กว่าจะรู้เรื่องคดีก็ต่อเมื่อตำรวจส่งสำนวนมาให้อัยการฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น

หลายกรณีอัยการไม่มีโอกาสที่จะตรวจสอบให้แน่ชัด บางครั้งก็ต้องยื่นฟ้องผู้บริสุทธิ์ไป และศาลก็ยกฟ้องในภายหลัง หรือบางครั้งก็ยื่นฟ้องไปโดยมีหลักฐานไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แม้ว่า ผู้ถูกฟ้องจะกระทำความผิดจริงแต่ศาลก็สั่งลงโทษไม่ได้

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมกับเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ทนายความ นักวิชาการ และเครือข่ายประชาชนผู้ถุกละเมิดสิทธิมนุษยชน เห็นว่าการคุ้มครองและปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ประเทศไทยต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่มีหลักนิติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และการพิจารณา การดำเนินคดีที่รวดเร็ว เพราะความล่าช้าของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐคือความไม่เป็นธรรม จึงมีข้อเสนอปฏิรูปการสอบสวนทางอาญา 9 ข้อ ได้แก่

1.ให้หลายหน่วยงานเข้าถึงพยานหลักฐานได้ทันทีที่ทราบเหตุ และสามารถเริ่มต้นดําเนินคดีไปจนถึงการส่งสํานวนให้อัยการได้โดยตรง เพื่อคานอํานาจ สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุล ป้องกันการบิดเบือนและทําลายพยานหลักฐาน

2. ปรับโครงสร้างการสอบสวนและการฟ้องร้องคดีให้เป็นกระบวนการเดียวกัน โดยให้ อัยการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลของพยานหลักฐานตั้งแต่แรก และเป็นผู้สอบปากคําผู้ต้องหาก่อนจะสั่งฟ้องคดี

3.จัดโครงสร้างงานสอบสวนในลักษณะสหวิชาชีพ มีฝ่ายสืบสวน ฝ่ายสอบสวน และเจ้าหน้าที่ผู้ชํานาญเฉพาะด้าน ได้แก่ ฝ่ายพิสูจน์หลักฐาน ฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ และนิติเวชศาสตร์ รวมทั้งมีพนักงานสอบสวนหญิงมาทำงานร่วมกัน

4.สร้างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่บริหารงานอย่างเป็นอิสระ จากพนักงานสอบสวนและอัยการ สามารถทำงานควบคู่กับพนักงานสอบสวนได้ตั้งแต่ต้นทาง

5.ยกเลิกการทํางานแยกส่วน ระหว่างหน่วยงานฝ่ายปกครองและตํารวจ

6.ยกเลิกการนำผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหามาทําแผนการสอบสวนต่อหน้าสาธารณชน

7.ในการควบคุมตัว การจับหรือค้น ให้เจ้าพนักงานแจ้งสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ต้องหา และแจ้งให้ญาติทราบ หากมีการปล่อยตัวต้องให้ญาติหรือพยานบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจลงนามรับรอง

8.ให้เจ้าพนักงานจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการซักถามผู้เสียหาย ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหาตั้งแต่การจับกุม และการสอบสวนผู้ต้องหา

9.ประชาชนต้องเข้าถึงทนายความที่มีความรับผิดชอบ และมีความรู้ความสามารถ เพื่อขอคำปรึกษา หรือขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย ไม่ให้เกิดการบิดเบือน หน่วงเหนี่ยว หรือแทรกแซงคดี

 

ที่มา: สสส.

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ