“ผู้จัดการทีมฟุตบอล” คืออาชีพที่ส่วนใหญ่ยึดโยงกับ “บุรุษเพศ” ผู้มีประสบการณ์ ความรู้อันปราดเปรื่องเรื่องการบริหารจัดการ และเข้าใจโครงสร้างกีฬาลูกหนังเป็นอย่างดี
ถ้าเขาหรือเธอคนนั้นไม่ได้มีคุณสมบัติตรงตามอย่างที่เราเขียนข้างต้น เป็นเพียง “สุภาพสตรีคนหนึ่ง” ที่ใช้เวลาเกินครึ่งชีวิตทุ่มเทไปให้กับกีฬาชนิดอื่นไม่ใช่ฟุตบอล เราคงไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า มันจะยากและท้าทายศักยภาพเธอมากขนาดไหน ?
แต่หากมองอีกมุมหนึ่งประสบการณ์ที่เธอค้นพบนับเป็นการเรียนรู้ที่ “ผู้จัดการทีมฟุตบอลทั่วไป” ไม่มีทางเจอ … บางสิ่งอาจนำแตกต่างกันนำมาปรับใช้ได้ยาก แต่หลายอย่างก็สามารถบูรณาการร่วมกันได้
“อลงกต เดือนคล้อย” บรรณาธิการบทสัมภาษณ์แห่ง Main Stand ผู้เคยเป็น Manager แค่เฉพาะเกมคอมพิวเตอร์ ขอพาทุกท่านไปร่วมสำรวจความคิด “เสียงซอ เลิศรัตนชัย” กับความเปลี่ยนแปลงในวัยใกล้เบญจเพส
จากคนเบื้องหน้าเป็นนักกีฬาขี่ม้ากระโดดทีมชาติไทยคนสำคัญ สู่งานเบื้องหลังตำแหน่ง “ผู้จัดการทีม” ประจำ STB Football Academy ศูนย์ฝึกลูกหนังเยาวชนครบวงจร ที่เป็นพันธมิตรธุรกิจอย่างเป็นทางการ (Official Strategic Partner) ของ บาเยิร์น มิวนิค
ขี่ม้าสอนให้รู้ว่าไม่ควรมองข้ามรายละเอียดเล็กๆ
พื้นหญ้าสีเขียวธรรมชาติ โอบล้อมด้วยป่าเขาธรรมชาติอันสมบูรณ์ คือ บรรยากาศอันแสนสบอุ่นที่ วินิจ เลิศรัตนชัย มักหาพาลูกสาวสองคน “สายลับ-เสียงซอ” ออกไปผจญภัยและทำกิจกรรมนอกบ้านแทบทุกสัปดาห์
“คุณพ่อกับคุณแม่ (เพ็ญพิสุทธิ์ เลิศรัตนชัย) ชื่นชอบขี่ม้าอยู่แล้ว ก็เอามาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมช่วงเสาร์-อาทิตย์ ของครอบครัว ซอเริ่มฝึกหัดขี่ม้าตั้งแต่อายุ 8-9 รู้สึกชอบ เพราะเป็นกีฬาที่สนุก น่าค้นหา จนถึงตอนนี้ ขี่ม้าก็ยังเป็นกีฬาที่พิเศษสุดสำหรับซอ”
“กีฬาทั่วไปเราเล่นกับคนใช่ไหม แต่ขี่ม้าเป็นกีฬาที่เราต้องทำงานร่วมกับสัตว์ที่ไม่สามารถพูดคุยกันได้กว่าที่นักกีฬาขี่ม้าคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ ต้องใช้เวลานานมากในการศึกษาและเรียนรู้ม้าสักตัวหนึ่ง เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกัน เราต้องเข้าใจทุกอย่างในตัวเขาตั้งแต่หัวจรดเท้า”
“คนทั่วไปอาจคิดว่า ม้าเป็นแค่อุปกรณ์เพื่อเล่นกีฬาชนิดนี้ แต่สำหรับซอ ม้าไม่ใช่อุปกรณ์ เขาเป็นนักกีฬาคนหนึ่งเหมือนกับเรา มีหัวใจ มีความรู้สึก เพียงแต่เขาไม่สามารถตอบโต้กับเราด้วยภาษามนุษย์ได้เท่านั้นเอง”
เสียงซอ มีความฝันอยากเป็น “นักกีฬาทีมชาติไทย” แม้กีฬาโปรดของเธอในตอนนั้นเป็น “ว่ายน้ำ” หาใช่การกุมบังเหียนอยู่บนอาน แต่เธอเชื่อว่า “ขี่ม้า” เป็นกีฬาจะนำพาเธอไปถึงจุดหมายได้
เธอลงมือทำไม่ใช่ชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว แต่ “เสียงซอ” ใช้เวลาอยู่กับกีฬาขี่ม้านานถึง 16 ปี จากจุดเริ่มต้นเมื่อตอนอายุ 8 ขวบ ชีวิตของเธอวนเวียนอยู่กับคอกม้า-พื้นหญ้า-สนามแข่ง ได้พบกับเจอบทเรียนต่าง ๆ มากมายที่ผ่านเข้ามาจากทุกสนามแข่งขันทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ
พานพบความสุขสม-ผิดหวังกับผลงานที่ไม่เป็นดั่งใจ, อุบัติเหตุในสนามถึงขนาดที่ “นิ้วหัก” แต่ก็ยังต้องกัดฟันควบม้าต่อจนให้จบ, ไปจนถึงการถูก Disqualified เพียงเพราะการใช่ระเบียบการแข่งขันคนละประเภท คนละเล่มตัดสิน
ทุกเรื่องราวพบเจอตลอด 16 ปี บนเส้นทางนักกีฬาขี่ม้าทีมชาติไทย ได้หล่อหลอมให้ “เสียงซอ เลิศรัตนชัย” เรียนรู้ว่า อย่ามองข้ามเรื่องเล็ก ๆ และควรต้องใส่ทุกรายละเอียด
“ขี่ม้าเป็นกีฬาปลูกฝังตัวตนของซอ ให้เป็นคนที่ใส่ใจแม้กระทั่งรายละเอียดเล็ก ๆ เพราะถ้าเรามองข้าม ก็อาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้”
“เราต้องทำงานร่วมกับโค้ช ทีมงาน, คนเลี้ยงม้า, หมอม้า ไหนจะช่างเกือกที่เข้ามาทำเล็บเท้าม้า วิธีการใส่เกือกต้องตอกอย่างไร ? เรื่องสุขภาพและสภาพจิตใจม้าอีก ซอเคยเจอม้าตัวหนึ่ง ตอนซ้อมทุกอย่างดีหมด พอถึงวันแข่งอยู่ดี ๆ มันก็ไม่ยอมกระโดด”
“ในระดับนานาชาติทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่าง ซีเกมส์, เอเชียนเกมส์, ชิงแชมป์เอเชีย เจ้าภาพแต่ละชาติก็มีระเบียบข้อบังคับไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ หากจะนำม้าเข้าประเทศต้องพาม้าไปตรวจโรค ฉีดวัคซีน และอิมพอร์ทเข้ามาจาก เยอรมัน เท่านั้น”
“แม้กระทั่งหนังสือระเบียบการแข่งขัน มันมีรายละเอียดยิบย่อยมากในแต่ละประเภท เราต้องอ่านทุกเล่ม ต่อให้ไม่ใช่ประเภทที่เราลงแข่ง เพราะกฏกติกาบางข้อมันเชื่อมโยงกัน ซอเคยมีประสบการณ์ถูกตัดสิทธิ์เนื่องจากการใช้ข้อบังคับผิดประเภทที่แข่ง เหมือนเราอ่านคนละเล่ม”
“ตอนนั้น ซอร้องไห้เสียใจ 3-4 วัน ซอกลับมาอ่านทุกอย่างทุกเล่ม และตัดสินใจชี้แจงตัวเอง จนสามารถพิสูจน์ให้ทุกฝ่ายได้ทราบว่า นั่นไม่ใช่ความผิดของเรา แต่มันไม่สามารถเปลี่ยนผลการแข่งขันได้แล้ว”
“ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยสามารถเป็นกรณีศึกษาให้รุ่นน้องได้ และเป็นประสบการณ์ให้กับตัวเราเอง ว่าต้องมีความรอบขอบมากยิ่งขึ้น ถ้าเกิดขึ้นในการแข่งขันที่ใหญ่กว่านี้เราต้องทำอย่างไร การเป็นนักกีฬาระดับทีมชาติจำเป็นต้องศึกษากฏระเบียบให้ละเอียด ตั้งแต่นั้นมา ซออ่านทุกเล่ม ทุกประเภท”
“เสียงซอ” เปรียบเทียบกีฬาขี่ม้าเป็นเหมือนการประกอบจิ๊กซอว์นับ 100 ชิ้นเข้าด้วยกัน หากชิ้นส่วนเล็ก ๆ ถูกละเลยมองข้าม หรือต่อผิดก็ย่อมทำให้ภาพ ๆ นั้นไม่สมบูรณ์
ดังนั้นไม่ว่าเธอจะลงมือทำสิ่งใด ? เสียงซอ มักให้ความสำคัญและไม่เคยมองข้ามรายละเอียดปลีกย่อยเลย ต่อให้เรื่องนั้นเธอไม่ได้มีความเชี่ยวชาญแบบเดียวกับที่เข้าใจทุกองค์ประกอบในกีฬาขี่ม้า
สาวน้อยผู้รักฟุตบอล
“ตอนเรียนอินเตอร์ที่ Harrow International School ซอเคยเป็นนักฟุตบอลโรงเรียนด้วยนะ” เสียงซอ เล่าในสิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับตัวเธอ
“คุณพ่อ (วินิจ เลิศรัตนชัย) ท่านชอบฟุตบอลมาก ตั้งแต่จำความได้ คุณพ่อก็จะพาไปดูบอลตลอด ทำให้ซอคุ้นเคยและรู้จักนักเตะหลาย ๆ คน อย่างพี่มุ้ย (ธีรศิลป์ แดงดา), พี่ประกิต (ดีพร้อม) หรือพี่ตอง (กวินทร์) ตั้งแต่พี่ ๆ เขาอายุ 13-14 ปี เล่นให้อัสสัมชัญธนบุรี”
“คุณพ่อพาดูฟุตบอลต่างประเทศบ่อยครั้ง และติดตามดูทีมชาติไทยแข่งตลอด ก็เหมือนซึมซับความชอบนั้นมา ตอนอยู่โรงเรียนอินเตอร์ฯ ก็เป็นนักกีฬาโรงเรียนเล่นหลายชนิดมาก ว่ายน้ำ, บาสเกตบอล, ฟุตบอล เพราะซอเป็นคนที่ชอบเล่นกีฬา”
หลังจบระดับไฮสคูล วิถีชีวิตของ “เสียงซอ” ไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้เหมือนกับตอนเป็นนักเรียน เพราะเส้นทางที่เลือกเต็มไปด้วยเครื่องกีดขวางที่เธอจะต้องควบคุมม้าให้กระโดดข้ามด่านเหล่านั้น
เธอจึงต้องอุทิศเวลา ทุ่มเทกับการฝึกซ้อม เพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเอง รวมถึงประสานงานกับม้าให้ได้สมบูรณ์แบบที่สุด
ถึงกระนั้น “ฟุตบอล” ก็ไม่เคยห่างหายไปจากชีวิตเสียงซอ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีเวลาว่าง เธอยังคงให้เวลากับการรับชม ติดตามเชียร์ เพราะกีฬาลูกกลม ๆ ถือเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งที่เธอเลือกใช้เวลากับมัน
“ถึงซอไม่ได้เล่นฟุตบอลแต่ก็ติดตามดูตลอด มันยังคงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เรายังสนุกเอ็นจอยกับเกม ยิ่งนักเตะชุดเอเชียนเกมส์ที่ อินชอน เกาหลีใต้ ซอสนิทกับพี่ ๆ หลายคนเลย (เสียงซอ เป็นนักกีฬาขี่ม้าที่ไปแข่งทัวร์นาเมนต์นั้นด้วย) ในตอนที่ ซอ จริงจังกับกีฬาขี่ม้า ฟุตบอลไม่ได้หายไปไหน มันยังวนเวียนอยู่รอบตัวเราตลอด”
ช่วงเป็นนิสิตที่ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย “เสียงซอ” มีโอกาสได้ขยับเข้าใกล้การทำงานด้านนี้มากขึ้น เริ่มจากช่วยเหลือกิจการนิสิต โครงการพัฒนากีฬาชาติ, คอยแนะแนว และดูแลกิจกรรมของนักกีฬาในชมรมว่ายน้ำ และ ฟุตบอล
กระทั่งเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เธอได้เข้าร่วมเป็นทีมงานเบื้องหลังของฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ ถึง 2 ครั้ง ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ ประจำทีมจุฬาฯ แม้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ แค่ไม่กี่วันในการรวมตัวนักกีฬา แต่เสียงซอก็รู้สึกสนุกและได้ประสบการณ์บางอย่างกลับมา
ทว่านั่นคงเทียบไม่ได้เลยกับ ภารกิจใหม่ที่เธอได้รับมอบหมาย จากบริษัท สปอร์ต ไทย-บาวาเรีย จำกัด ให้เข้ามาทำตำแหน่ง “ผู้จัดการทีม” ประจำ STB Football Academy ศูนย์ฝึกฟุตบอลที่รับรองคุณภาพโดย บาเยิร์น มิวนิค สโมสรชั้นนำของเยอรมัน ที่มีเป้าหมายต้องการบ่มเพาะและสร้างเยาวชนไทยให้คุณภาพทั้งในและนอกสนาม
“เหตุผลหนึ่งที่ ซอเลือกรับงานนี้ เพราะเป็นงานที่เกี่ยวกับฟุตบอล ซออยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน และที่ STB Academy ก็มีหลายอย่างให้ซอได้ลองทำเยอะมาก” เธอกล่าว
เรียนรู้ผ่านชีวิตจริง
STB Football Academy คือ ศูนย์ฝึกฟุตบอลที่เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุ 9-18 ปี ได้เข้ามาพัฒนาศักยภาพทุกด้าน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักเตะอาชีพอย่างยั่งยืนและได้คุณภาพ
สำหรับเด็ก ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาอยู่ที่นี่ นอกจากจะได้เรียนรู้หลักสูตรลูกหนังมาตรฐานเยอรมันตลอดโครงการแล้ว ยังได้ทุนเข้าเรียนต่อในสถานศึกษาชั้นแนวหน้าของไทยอย่าง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และโรงเรียนเซนต์ดอมินิก
“ซอใช้เวลานานพอสมควร เพื่อศึกษาทุกรายละเอียดของ STB Academy เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่หมดสำหรับเรา”
“ซอเคยดูแลม้า 5-6 ตัว แต่ไม่เคยต้องดูแลเด็ก ๆ น้อง 40 กว่าชีวิตที่เราต้องทำความรู้จัก เข้าใจตัวตน และเรียนรู้ว่าเด็กแต่ละคนต้องใช้วิธีการสื่อสารแบบไหน ? ยิ่งเป็นเด็กผู้ชายด้วย เขามีความซนเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ซอก็ต้องให้เวลากับตรงนี้ค่อนข้างมาก”
เสียงซอ อธิบายว่าภาระงานใหม่ของเธอในแต่ละวันไม่ได้ตายตัวเลย เพราะเธอต้องทำหน้าที่ คอยประสานงานร่วมกับทีมสตาฟฟ์โค้ช และผู้บริหารองค์กร รวมถึงบริหารจัดการให้ดำเนินการไปตามแผนงานที่วางไว้ ในแต่ละโปรเจกต์ ช่วยในเรื่องการสื่อสารด้วย
และในพาร์ทด้านการศึกษา “เสียงซอ เลิศรัตนชัย” มีส่วนสำคัญในการเข้ามาดูแลเต็มที่ เพราะเรื่องนี้ STB Academy ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งเธอเข้าใจเหตุผลเป็นอย่างดี เนื่องจากตนเองก็ถูกปลูกฝังมาแบบเดียวกับน้อง ๆ ในศูนย์ฝึก
“3 ข้อที่องค์กรเราให้ความสำคัญมาก คือ 1. การศึกษา 2. การใช้ชีวิตในสังคม 3. ฟุตบอล” เสียงซอ กล่าวเริ่ม
“เหตุผลที่เราให้การศึกษามาเป็นอันดับ 1 เพราะการจะเป็นนักกีฬาอาชีพที่ประสบความสำเร็จได้ เขาจำเป็นต้องรับการศึกษาที่ดี ภาษาอังกฤษต้องสื่อสารได้ เพื่อพัฒนาสมอง ระบบประสาท ดังนั้นเด็ก ๆ ทุกคนใน STB Academy จะต้องมีผลการเรียนไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่เรากำหนดไว้”
“หน้าที่เราคือต้องทำให้เด็กเข้าใจว่า ทำไมการศึกษาถึงสำคัญ เพราะคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่า อนาคตข้างหน้าเป็นอย่างไร ? คุณไปได้ถึงระดับทีมชาติได้หรือไม่ ต้องเจอกับอาการบาดเจ็บหรือเปล่า ? อย่าลืมมีเด็กอีกนับหมื่นนับแสนคนต่อปีที่มีเป้าหมายแบบเดียวกับคุณ ฉะนั้นคุณจำเป็นต้องมีการศึกษาที่ดีเพื่อเป็นพื้นฐานชีวิต”
“นั่นคือแนวคิด ซอ ถูกปลูกฝังมาจากครอบครัว และโค้ชที่สอนเสมอว่า ‘ซอ อย่าทิ้งการเรียนนะ’ ยังไงก็ให้ยึดการเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คนเรามีความฝันอยากเป็นนักกีฬา เราต้องสามารถทุ่มเทและทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันให้ได้ ต้องรู้จักแบ่งเวลา และให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วย ซอเคยถูกสอนแบบนี้ และเห็นผลดีกับตัวเอง จึงสามารถถ่ายทอดกับน้อง ๆ ได้”
ส่วนข้อสอง “ทักษะการใช้ชีวิตในสังคม” เป็นส่วนที่ STB Acadamy ให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องฟุตบอล เพราะที่นี่ต้องการหล่อหลอมให้เด็ก ๆ เติบโตไปเป็นพลเมืองดี ผ่านการเรียนรู้ชีวิตจริง ในการอยู่ร่วมกับคนอื่นในศูนย์ฝึกลูกหนัง รวมถึงการปฏิบัติตามกฏระเบียบที่ทาง STB Academy วางไว้ เพื่อขัดเกลาเด็ก ๆ ให้มีระเบียบวินัยและซึมซับวิถีนักกีฬาอาชีพ
ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของ เสียงซอ จึงไม่สามารถนั่งทำงานในออฟฟิศเพียงอย่างเดียวได้ แต่เธอต้องลงมานั่งพูดคุยกับเด็ก ๆ รับฟังเรื่องราวหรือปัญหาที่พวกเขากำลังพบเจอ และคอยชี้แนะบอกสอนในสิ่งที่ถูกต้องให้เยาวชนได้ปฏิบัติตาม ผ่านสิ่งที่เธอเคยเรียนรู้จากตอนป็นนักกีฬามาก่อน
“การทำบอลเด็กมันค่อนข้าง Sensitive เพราะด้วยช่วงวัยอายุของเขา การรับรู้ วิธีคิดของเขาอาจไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ที่ผ่านมาซอถึงเลี่ยงที่จะทำงานโค้ชหรือสอนเด็กขี่ม้าตลอด แต่พอเราทำงานตรงนี้ (ผู้จัดการทีม STB Academy) ซอจำเป็นที่ต้องให้เวลาเพื่อศึกษาน้อง ๆ เราไม่สามารถมองข้ามรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้เลย บางวันไม่มีอะไรไปนั่งเฝ้าเฉย ๆ ก็มี เพื่อใช้เวลากับเขา”
จงเล่นกีฬาอย่างมีความสุข
ส่วนพาร์ทสุดท้าย คือ “ฟุตบอล” เด็ก ๆ จะมีเวลาเพียง 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ในการฝึกปรือฝีเท้าอย่างเข้มข้น ภายใต้หลักสูตรที่ได้รับมาตรฐานและการรับรองจาก บาเยิร์น มิวนิค และทีมงานสตาฟฟ์โค้ชที่มีประสบการณ์ในการสอนเยาวชนในเยอรมัน
เมื่อรวมทั้ง 3 ส่วนสำคัญ 1. การศึกษา 2. การใช้ชีวิตในสังคม 3. ฟุตบอล เข้าไว้ด้วยกัน ผลผลิตที่ได้ออกมาจาก STB Football Acadamy จึงไม่ใช่แค่ นักเตะเยาวชนที่ถูกปูพื้นฐานให้พร้อมสำหรับเล่นลีกอาชีพ แต่ยังรวมถึงการได้พัฒนาเยาวชนให้เติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรที่ดีของสังคม
แม้เธอไม่ได้เข้าล้วงลึกถึงลงไป Take Action การสอนฟุตบอลในสนาม เพราะมีโค้ชเฉพาะทางทำหน้าที่นั้นอยู่แล้ว
แต่ในฐานะคนที่เคยผ่านการเป็นนักกีฬาระดับทีมชาติไทย “เสียงซอ” ก็มักจะสอดแทรกแนวคิดบางอย่างมาถ่ายทอดให้ เยาวชนทุกคน ดึงศักยภาพของตัวเองออกมา และมีความสุขกับการเล่นฟุตบอล
“ซอไม่เคยสั่งเด็กว่า ต้องได้แชมป์ทุกครั้ง ชนะทุกนัด เราไม่เคยขอ เราขอให้ทุกครั้งที่ลงสนาม เล่นให้เต็มที่ อาจจะเล่นผิดพลาดในเกมบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาของนักกีฬา ที่มีทั้งแพ้และชนะ แต่สิ่งสำคัญคือพร้อมพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา และต้องรักและมีความสุขกับการเล่นฟุตบอล”
“ต่อให้เขาเก่งแค่ไหน สุดท้ายเขาก็ยังเป็นเยาวชนคนหนึ่ง เราไม่ควรกดดันเขามากเกินไปว่าต้องชนะเท่านั้น ซอเป็นผู้จัดการทีมพาน้อง ๆ ไปแข่งขัน จะชนะหรือแพ้มันก็แค่ผลของเกม พรุ่งนี้เขา ก็ต้องกลับไปซ้อม มุ่งมั่น ตั้งใจเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิม”
“2 ชั่วโมงที่เขาอยู่กับฟุตบอล มันควรเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ มีความสุขมากสุด เพราะซอเคยมีช่วงเวลาไม่สนุกกับการขี่ม้า ซอก็หาต้องหาอย่างอื่นทำเพื่อให้ตัวเองมีความสุขอีกครั้ง ฉะนั้นในวัยนี้ เด็ก ๆ ควรมีความสุขในการได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในชีวิต ทั้งในและนอกสนาม”
“เราสร้าง Career-path เราปูพื้นฐานชีวิตและการเป็นนักฟุตบอลอาชีพให้กับเขา แต่เราไม่สามารถล่วงรู้อนาคตได้ว่า ทุกคนจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ? เราจึงอยากให้เขามีความสุขกับการเล่นกีฬา พร้อมกับเรียนรู้ที่จะเติบโตไปเป็นคนดีของสังคม”
พื้นหญ้าสังเคราะห์สีเขียว มีเม็ดยางสีดำแซมอยู่ ท่ามกลางบรรยาาศรอบข้างที่ไม่ได้รายล้อมไปด้วยป่าเขาธรรมชาติ หรือได้รับกลิ่นดินหญ้าเหมือนในคอร์ตแข่งขันสนามม้า อย่างที่เธอคุ้นชิน
แต่ที่นี่กลับทำให้ “เสียงซอ เลิศรัตนชัย” ในวัยย่าง 25 ปี ยิ้มอย่างมีความสุขในบทบาท “ผู้จัดการทีม” ที่ได้เห็น เด็กเยาวชน STB Academy ลงเล่นฟุตบอลกีฬาที่พวกเขารักด้วยความสนุก และกำลังเดินไปบนเส้นทางถูกต้อง
จากคนเบื้องหน้าที่ได้รับการผลักดัน และมีคนข้างหลังมากมายสนับสนุนเธอ ในวันนี้ เสียงซอ เข้าใจแล้วว่าการเป็นคนเบื้องหลังที่มีส่วนในการส่งเสริม ปลุกปั้นนักกีฬาเบื้องหน้า มันอิ่มเอมหัวใจมากเพียงใด