FootNote:ยุทธศาสตร์ ก้าวหน้า ก้าวไกล กับบทบาท ของ ถวิล ไพรสณฑ์
การเข้ามาเป็นสมาชิก “ตลอดชีพ” พรรคก้าวไกลของ นายถวิล ไพรสณฑ์ ส่งผลสะเทือนอย่างฉับพลันทันใดต่อพรรคประชาธิปัตย์
ไม่เพียงเพราะนี่คือ “เนื้อแท้” พรรคประชาธิปัตย์ยาวนาน
แม้ครั้งหนึ่งจะเคยแยกตัวไปอยู่พรรคพลังธรรมก็หวนกลับพรรคประชาธิปัตย์ แม้ครั้งหนึ่งจะเคยแยกตัวไปอยู่พรรคประชาชนก็หวนกลับพรรคประชาธิปัตย์
แต่การอำลาจากพรรคประชาธิปัตย์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะเหมือนกับเมื่อตอนแยกไปอยู่พรรคพลังธรรม เมื่อตอนแยกไปอยู่พรรคประชาชน แต่อย่าลืมว่าสถานการณ์ครั้งใหม่แตกต่างกัน
นี่เป็นการแยกตัวมิใช่เพราะความขัดแย้งเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หากแต่เป็นการแยกตัวเพราะตระหนักในบทบาท และความหมายในเชิงอุดมการณ์กับพรรคก้าวไกล
ที่สำคัญก็คือ อุดมการณ์ว่าด้วย “กระจายอำนาจ”
ในฐานะที่ดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้าง “รัฐราชการรวมศูนย์” มาอย่างยาวนาน นายถวิล ไพรสณฑ์ ตระหนักได้เป็นอย่างดี
นี่คือภารกิจครั้งสำคัญและทรงความหมายยิ่งทางการเมือง
คำประกาศของ นายถวิล ไพรสณฑ์ คือไม่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ต้องการมีตำแหน่งใดๆในทางการเมือง หากแต่ต้องการเข้าไป เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ “กระจายอำนาจ” ให้เป็นจริง
สอดรับกับยุทธศาสตร์ใหญ่การเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้ากับพรรคก้าวไกลตลอดปี 2565 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พุ่งเป้าไปยังการกระจายอำนาจ การเลือกตั้งระดับ “ท้องถิ่น”
ประสบการณ์ของคณะก้าวหน้าจากการส่งคนลงสมัครนายกอบจ. นายกเทศมนตรี และนายกอบต.ในขอบเขตทั่วประเทศ ตกผลึกแล้วอย่างสมบูรณ์ว่าจะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร
บทบาทของ นายถวิล ไพรสณฑ์ จึงเป็นบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์คณะก้าวหน้า พรรคเพื่อไทย ตรงเป้าหมาย
ไม่ว่าจะมองผ่านบทบาทของคณะก้าวหน้า ไม่ว่าจะมองผ่านบทบาทของพรรคก้าวไกล ยังคงเป็นการสานต่อเจตจำนงทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่อย่างแน่วแน่และมั่นคง
บทบาทนี้ นายถวิล ไพรสณฑ์ เข้ามาสอดสวมอย่างเหมาะสม
นั่นก็คือ การปักธงในทาง “ความคิด” เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติการในทาง “การเมือง”
ทุกการเคลื่อนไหวเป็น “โอกาส” เป็นลมหายใจทาง “ความคิด”