มีเสียงท้วงติงจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือน เกิดเหตุปิดล้อมจับตาย 3 ครั้ง ผู้ต้องหา 7 ศพ แม้ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ต้องหามีหมายจับ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนักต่อภาพรวมการแก้ปัญหาไฟใต้
ศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ประจำภาคใต้ สะท้อนว่าการวิสามัญฆาตกรรมทุกครั้งที่มีโอกาส สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนว่าเจ้าหน้าที่ต้องการความสงบสุขจริง หรือแค่ต้องการทำลายคนเห็นต่าง โดยไม่สนใจผล กระทบในระยะยาว
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หรือเพราะมีการเปลี่ยนคณะบุคคลที่ทำงานเชิงรุกทางความคิด วิธีการแก้ปัญหาจึงเปลี่ยนตามไปด้วย ซึ่งสะท้อนวิถีคิดของ ผู้คุมนโยบายดับไฟใต้
จากยุคใช้ความคิดเป็นอาวุธ เปลี่ยน ไปใช้วิธีการอื่น จะนำมาซึ่งผลกระทบ ระยะยาว
ขณะเดียวกัน นักวิชาการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุตั้งแต่เดือนม.ค.2547 ถึง ธ.ค.2564 เกิดเหตุกว่า 20,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,300 คน
แต่มีสิ่งน่าสังเกตตั้งแต่ปี 2556-57 สถานการณ์ความรุนแรงลดลง จนกระทั่งปี 2564 ความไม่สงบเพิ่มขึ้นเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์จากที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการปิดล้อมตรวจค้นมีอัตราสูงขึ้น มากกว่า 100 เหตุการณ์ ส่งผลให้การวิสามัญฆาตกรรมสูงขึ้นตามไปด้วย ดังในเดือนม.ค.-ก.พ.2565 เจ้าหน้าที่ปิดล้อมจับตายไปแล้ว 3 เหตุการณ์
นักวิชาการสันติวิธีจึงกังวล หากยังคงปฏิบัติการเช่นนี้ต่อเนื่อง ก็จะมีการตอบโต้ เป็นห่วงโซ่ความรุนแรง
อีกข้อมูลน่าสนใจ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุด้วยว่า วิธีการที่เจ้าหน้าที่ให้พ่อแม่ ครอบครัว ผู้ใหญ่บ้าน หรือโต๊ะอิหม่ามพูดเกลี้ยกล่อมให้วางอาวุธมอบตัว พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ผล
ยิ่งจะทำให้เกิดผลลบด้วย เพราะเหมือนกับนำความสัมพันธ์ส่วนตัวของกลุ่มขบวนการมาใช้ประโยชน์ บีบบังคับให้ต้องยอมจำนน จึงเกิดการต่อต้านและปฏิเสธ
ดังนั้น รัฐบาลผู้กุมนโยบายต้องทบทวนด่วน เพราะการปิดล้อมแต่ละครั้ง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องสงสัยเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงผู้คนในชุมชนอีกด้วย บ้านเรือน เสียหายจากการใช้อาวุธ หรืออาจถูกลูกหลงบาดเจ็บและเสียชีวิต
ไม่เท่านั้นยังกระทบต่อสภาพจิตใจที่ต้องเห็นความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า