มองโกเลียในพบ “อุโมงค์ใต้ดิน” ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เจอสุสาน-หยก-ของเก่าเพียบ
มองโกเลียในพบ “อุโมงค์ใต้ดิน” – วันที่ 8 ก.พ. ซินหัว รายงานว่า สถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของ ประเทศจีน เปิดเผยการค้นพบซากปรักหักพังของ อุโมงค์ใต้ดิน ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ซากอุโมงค์ใต้ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเมืองหินโบราณที่อำเภอชิงสุ่ยเหอ มีพื้นที่ประมาณ 1.38 ล้านตารางเมตร เป็นของวัฒนธรรมหลงชาน อารยธรรมปลายยุคหินใหม่ในพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำเหลือง
ถูกค้นพบพร้อมกับซากปรักหักพังกว่า 20 แห่ง ครอบคลุมประตูเมือง กำแพงเมือง ฐานรากสิ่งปลูกสร้าง สุสาน หยก เครื่องปั้นดินเผา และวัตถุที่ทำจากกระดูก
ซากอุโมงค์มีทางเดินยาวและแคบที่ความลึก 5-6 เมตร กว้างประมาณ 1-3 เมตร สูงราว 2 เมตร และมียอดโค้ง โดยเชื่อมระหว่างภายใน ภายนอก และคูดิน 2 แห่งของเมืองโบราณ
นอกจากนี้คณะนักโบราณคดียังพบร่องรอยของการทำเครื่องมือ และพื้นผิวร่องรอยที่ถูกเหยียบย่ำบางส่วนถูกเปลวไฟเผาทำลายจนเกิดสีแดงสด ถือเป็นการค้นพบที่มีคุณค่าอย่างมากต่อการศึกษาวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ และต้นกำเนิดอารยธรรมในหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของจีน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เผยโฉม “หน้ากากสัมฤทธิ์” โบราณวัตถุมหึมาแปลกตา-หนักกว่า 65 กิโลกรัม