หมายเหตุ – นักวิชาการได้สะท้อนมุมมองต่อผลจากการเลือกตั้งซ่อมส.ส. 3 เขตคือ เขต 1 ชุมพร เขต 6 สงขลา และเขต 9 กทม. ถือเป็นช่วงขาลงของรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐและต่อตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รวมถึงการส่งผลถึงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสนามระดับชาติ ที่พรรคการเมืองต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช การเลือกตั้งซ่อมจ.สงขลาและชุมพร เป็นการแข่งกันระหว่าง พลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ ซึ่งมีหลักสูตรการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ชัยชนะของประชาธิปัตย์ไม่ได้มาจากพรรคเท่านั้น แต่ยังมาจากเครือข่ายทางการเมือง ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่ลงสมัคร เช่น พรรคก้าวไกล อาจไม่เป็นที่นิยมของคนภาคใต้ ส่วนผลการเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่-จตุจักร สะท้อนภาพสนามผู้ว่าฯ กทม.ได้พอสมควร การที่ประชา ธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม เนื่องจากประเมินแล้วว่าโอกาสชนะเป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นพรรคเดียวที่เปิดตัว ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อย่างชัดเจน จึงเป็นส่วนที่ทำให้ประชาธิปัตย์ไม่ส่ง เพราะหาก ส่งแล้วแพ้ จะเกิดคำถามที่เป็นโดมิโนมาสู่ตัวผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ตรงนี้จึงสะท้อนว่า แม้จะเป็นเลือกตั้งซ่อม แต่มีผลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นในกทม.ไม่น้อย ดังนั้น การเลือกตั้งซ่อมใน 3 เขต เป็นตัวชี้วัดไปสู่การเมืองระดับชาติได้พอสมควร เพราะเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง และเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า นี่คือขาลงของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ผลการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา สะท้อนคะแนนความนิยมและช่องว่างทางยุทธศาสตร์การเมืองของแต่ละพรรค เป็นสิ่งที่พรรคต่างๆ ทั้งฝ่ายชนะและฝ่ายแพ้ ต้องนำจุดเด่นจุดด้อยไปปรับยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ส่วนที่พรรคเพื่อไทยตั้งธงแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น แม้กติกาเลือกตั้งเปลี่ยนไปเป็นบัตร 2 ใบ เพราะวันนี้บริบทและภูมิทัศน์ทางการเมืองไม่เหมือนกันแล้ว คนที่กาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ อาจไม่ได้กาในทิศทางเดียวกันก็ได้ ฉะนั้น การเกิดแลนด์สไลด์คงไม่ง่าย อีกทั้งทางเลือกมีมากขึ้น พรรคใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก การถูกดึงคะแนนเสียงก็เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญกว่านั้นคือ รัฐธรรมนูญปี 60 ในภาพใหญ่ยังไม่ได้แก้ไข โครงสร้างการเมืองจึงยังไม่ได้เปลี่ยน แม้จะแลนด์สไลด์ แต่อย่าลืมว่ากลไกหลายอย่าง เช่น ส.ว. 250 คนยังมีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ บทบาทองค์กรอิสระ กลไกตรวจสอบต่างๆ ยังคงอยู่ ถึงแม้แลนด์สไลด์จะเกิดขึ้น แต่สุดท้ายอาจจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้อยู่ดี รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นปัจจัยสำคัญในการกำกับรูปโฉมทางการเมือง ส่วนพรรคก้าวไกลที่ชนะในเขตทหารนั้น มีความน่าสนใจมาก เพราะปกติเรื่องการฟังคำแนะนำของผู้บังคับบัญชาเป็นวัฒนธรรมองค์กรของทหาร ครั้งนี้ถ้าเขาไม่เปิดให้ฟรีโหวต ส่วนตัวไม่เชื่อว่าคะแนนจะออกมาแบบนี้ได้ การที่พรรคก้าวไกลชนะขาดลอยในหน่วยเลือกตั้งพื้นที่ทหาร สะท้อนภาพการเมืองระดับใหญ่ได้พอสมควรว่า บทบาทของคสช.เหลืออยู่มากน้อยเพียงไรในกองทัพ และยังสะท้อนถึงบทบาทและอิทธิพลของกลุ่ม 3 ป.ด้วย เมื่อวันนี้อำนาจคสช.แทบถดถอย ซึ่งจะส่งผลสู่ภาพใหญ่ทางการเมืองเช่นกัน สำหรับพลังประชารัฐ เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะวันนี้เป็นขาลง การแตกตัวออกไปของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สร้างความเปลี่ยนแปลงไม่น้อย เพราะตอนนี้กลุ่มร.อ.ธรรมนัส อยู่ในสถานะเซลล์อิสระ ไปอยู่ส่วนไหนของสมการการเมืองก็ก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าไปอยู่ในส่วนสนับสนุนรัฐบาล รัฐบาลก็ไปต่อได้ แต่ถ้าอยู่กลางๆ ก็ต้องว่าเป็นกรณีไป แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านอิสระจะเป็นปัญหา เพราะทำให้รัฐบาลกลับสู่ภาวะเสียงปริ่มน้ำอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นยุทธศาสตร์อันชาญฉลาดของ ร.อ.ธรรมนัส เพราะยังไม่ชัดเจนว่าจะไปอยู่พรรคไหน ซึ่งยุทธศาสตร์สร้างความคลุมเครือ ยิ่งทำให้การเดินเกมของร.อ.ธรรมนัส มีความได้เปรียบ จึงคิดว่าครั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้มีเป้าหมายแค่ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี แต่เป้าหมายหลักคือ เกมล้มนายกฯ ขณะที่พลังประชารัฐตอนนี้เหลือแค่กลุ่มสามมิตร หากกลุ่มสามมิตรออกไปเมื่อไหร่ โอกาสที่จะกลายเป็นพรรคที่ถูกลดขนาดลง จะเกิดขึ้นแน่นอน และหากสถานการณ์การเมืองไม่เอื้ออำนวยอีก ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะไม่เห็นพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ถ้าดูจากผลเลือกตั้งซ่อม เอาจริงๆ สะท้อนถึงความนิยมของรัฐบาลแค่บางส่วน เพราะภาคใต้ 2 เขต คนที่ชนะคือประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น จะพูดถึงรัฐบาลขาลง คงไม่ได้ทั้งหมด แต่ในกทม. คงได้แม้จะไม่ทั้งหมด เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่มีคะแนนเลย ส่วนที่ได้กว่า 7 พันคะแนน คือคะแนนส่วนตัวของนายสิระ เจนจาคะ และครอบครัว ไม่ใช่ทั้งพรรคและคะแนนของรัฐบาล แสดงว่าไม่มีใครช่วยเลย ภาพที่ออกมา อาจเป็นภาพสะท้อนที่เชียร์พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้เยอะ ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ พยายามไม่เอาตัวเองมาโยงกับการเลือกตั้งทั้ง 3 เขต เพราะรู้ว่าคนไม่ได้ถูกใจรัฐบาลในตอนนี้ ถ้าเอาไปผูกกันเมื่อไร ก็ตอบได้ทันทีว่า ผลคะแนนที่ออกมา เป็นเพราะรัฐบาลขาลง ซึ่งเขาไม่อยากให้คนอ้างเชื่อมไปอย่างนั้น จึงพยายามทำตัวอยู่เหนือการเลือกตั้ง อยู่เหนือการเมืองมาตลอด ผลเลือกตั้งซ่อมในกทม. ส่งผลถึงสนามผู้ว่าฯ กทม.ด้วยในส่วนของพรรคการเมือง นักการเมืองและคนที่จะลงสมัคร ซึ่งต้องคิดว่า ควรทำงานการเมืองอย่างไร จะหาเสียงอย่างไร เพื่อไปเจาะเอาคะแนนจากประชาชน อย่างพรรคเพื่อไทย ต้องยอมรับว่า หากสู้กันในโซเชี่ยล เป็นรองพรรคก้าวไกล รวมถึงในแง่ประเด็นความแหลมคม ก็ยังอยู่กับพรรคก้าวไกล เห็นได้จากที่ได้คะแนนในเขตทหาร เพราะชูเรื่องการปฏิรูปกองทัพ แต่ทั้ง 2 เรื่องก็มีเสียงที่จำกัด ดังนั้น ถ้าจะประสบความสำเร็จ กรุงเทพฯ ต้องมีเรื่องที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้คน เพราะเขาคาดหวังคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น มีคนมาเก็บขยะ ดูแลการเดินทางไม่ให้ลำบาก มีพื้นที่สีเขียวออกกำลังกาย น้ำระบายเร็ว พรรคก้าวไกล จึงต้องไปเสริมการทำงานเชิงพื้นที่ มีนโยบายที่ตอบโจทย์ปากท้องความเป็นอยู่ ส่วนพรรคเพื่อไทย รอบนี้ยอมรับว่า ยังไม่มีประเด็นที่เป็นแม่เหล็กนอกจากด่ารัฐบาล ชูแค่ตัวบุคคลที่เป็นผู้สมัคร แต่ขาดประเด็นที่จะดึงใจคน เพราะเวลาคนเขาเลือกจะเลือกเชิงนโยบายและวิธีคิด จึงต้องไปหาตรงนี้ ในการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศคงคล้ายกัน การชูเรื่องนโยบาย เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดของการแข่งขัน ต้องดูอุดมการณ์ที่แหลมคม มีจุดดึงดูด ที่สำคัญ ต้องมีจุดยืนบางอย่างทางการเมือง เช่น การปฏิรูปกองทัพ ก่อนจะปักหมุดต่อไปว่าวิธีการจะทำอย่างไร แต่ละพรรคต้องมีจุดขายมาชู ไม่ใช่เสนอนโยบายแล้วให้ประชาชนมารอช็อปอย่างเดียว ตัวบุคคลก็เกี่ยวข้อง จากนี้จะใช้เป็นบัตร 2 ใบ ส.ส.ส่วนใหญ่จะอยู่ที่เขตทั้ง 400 เขต และพรรคจะประสบความสำเร็จได้ ต้องชนะที่เขต การใช้กระแสพรรคและนโยบายพรรคไปหาเสียง อาจไม่พอ ต้องใช้ตัวคนที่ขายได้มาช่วยเสริม ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐ ชูพล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในครั้งต่อไปนั้น จริงๆ ตัวพล.อ.ประยุทธ์ ขายได้ แต่ประเด็นว่า ในครั้งหน้า จะยอมให้พลังประชารัฐเอาชื่อไปขายอีกหรือไม่ เพราะจากความเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐ เห็นแนวโน้มว่าในครั้งหน้า อาจจะไม่ใช่พรรคหลักที่จะใช้ชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ ไปโชว์ได้อีก แต่อาจเจอชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ ในชื่อพรรคใหม่ ที่เป็นพรรคตัวจริง จากนี้พรรคการเมืองต้องปรับกลยุทธ์ เตรียมเลือกตั้งทั่วไป ชัดเจนว่า ถ้าใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นสิ่งที่เพื่อไทยถนัด ใช้คนที่แข็งในเขตนั้นลงสู้ บวกกับใช้กระแสนโยบาย เพื่อเก็บคะแนนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และใช้ภาพความเป็นพรรคใหญ่ อยู่ขั้วตรงข้ามรัฐบาลเป็นจุดขาย ตรงนี้เพื่อไทยจะได้เปรียบปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนบุคลากรที่มีจะได้เปรียบในส.ส.เขต แต่ปัญหาคือจะถูกแย่งคะแนนจากคนกลุ่มเดียวกันจากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องไปแก้ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ถ้าสมมติว่าขนาดพรรคเล็กลง วิธีสู้คงต้องปรับกลยุทธ์ไปสู้ คล้ายกับพรรคขนาดกลางเช่น ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย คือส่งผู้สมัครลงสู้ในเขตที่มั่นใจว่าจะได้ และส่งในเขตอื่นเพื่อเก็บปาร์ตี้ลิสต์จะมาเติมคะแนนให้กับพรรคเท่านั้น ส่วนการทำรัฐประหาร ผมมองว่าสภาวะแบบนี้ไม่น่าจะเกิด และการลาออกของนายกฯ สามารถเป็นทางออกได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่ผมคิดว่า นายกฯ คงไม่เลือกใช้วิธีนี้ โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการเลือกตั้งซ่อม ทั้งที่จ.ชุมพร สงขลา และหลักสี่-จตุจักร กทม. เป็นตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรมได้ว่า เป็นช่วงขาลงของรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ แต่ที่อยู่ได้นั้น ก็ด้วยอำนาจของส.ว. 250 คน และมีพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าพูดถึงตัวพรรคพลังประชารัฐเอง คนเริ่มมองเห็นและหมดศรัทธาในพฤติกรรมของผู้สมัครส.ส. เชื่อว่าการพ่ายแพ้ที่จ.ชุมพร และสงขลา อาจจะบอกได้ไม่ชัดว่าเป็นขาลง เหตุมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย ขณะที่การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ ก็มีหลายปัจจัย ทั้งจากตัวพรรคพลังประชารัฐที่มีความขัดแย้ง ภายใน พฤติกรรมส.ส.ที่ก้าวร้าว และการทำงานที่ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ที่สำคัญ คือ นโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่หาเสียงไว้ ไม่สามารถทำได้สักข้อ นั่นคือ โกหกประชาชนมาตลอด 3 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่นโยบายเริ่มขยับเป็นรูปธรรมมาก แต่พลังประชารัฐ มีเพียงนโยบายคนละครึ่งที่เอาไว้หล่อเลี้ยงฐานเสียงคนรากหญ้าเท่านั้น แต่ถ้าถามถึงอนาคตนั้นมันมองไม่เห็น ฉะนั้น การเลือกตั้งซ่อมในหลักสี่-จตุจักร จึงเป็นสัญญาณอีกทางด้วย การเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้น เชื่อมโยงไปถึงสนามเลือกตั้งอื่น รวมถึงสนามผู้ว่าฯ กทม. โดยเป็นแรงกดดัน ทำให้พรรคพลังประชารัฐไม่กล้าเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้งที่แต่ก่อนระบุว่ามีผู้สมัครแน่ แต่ตอนนี้ยังไม่มี เพราะรู้ว่ากระแสตอนนี้ไม่ได้แน่ ขณะที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งชนะในเขตหลักสี่-จตุจักร ถ้าทำงานดี ภาพจำเดิมกับคนกรุงเทพฯ อาจจะเปลี่ยนแปลง ทำให้เพื่อไทยดีขึ้น และส่งผลต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่พรรคสนับสนุนอยู่ก็เป็นได้ รวมทั้งเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยว่า เพื่อไทยมีโอกาสชนะมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล เริ่มมีฐานคะแนนที่แน่นอน ดูจากเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร สามารถรักษาฐานคะแนนเสียงเดิมได้ ดังนั้น พรรคก้าวไกลควรใช้โอกาสนี้ทำงานการเมืองในพื้นที่เมืองมากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัด พรรคก้าวไกลอาจจะมีโอกาสทางการเมืองในการเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้าก็ได้ หรือแม้แต่ที่ชนะในเขตทหารนั้น แสดงว่าแนวทางการชูการปฏิรูปกองทัพได้เริ่มปักหลักแล้ว ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ยังถือว่าได้เปรียบในส่วนที่มีส.ว. 250 คน และพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ต่อแม้จะระหองระแหงกันบ้าง แต่เขาก็สมยอมกันในเรื่องของผลประโยชน์ แต่พรรคพลังประชารัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีโนเวต อันเป็นผลมาจากปัญหาแตกแยกในพรรค ถ้าเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ปรับภูมิทัศน์ กระบวนยุทธ์ ไม่รีโนเวตพรรคก็จะทำให้พรรคตกต่ำไปอีก ดังนั้น การที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ขับร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากพรรค ก็เป็นกลยุทธ์รีโนเวต เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพรรค เพราะรู้ดีว่าพรรคต้องเสนอพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ ถ้าไม่ปรับอะไรเลยก็อยู่ยาก จึงเอาร.อ.ธรรมนัส ไปไว้อีกพรรคหนึ่ง แล้วแก้ปัญหาภายในพรรค ทำให้ลงตัว ขณะเดียวกันก็หาบุคลากรทางการเมืองรุ่นใหม่เข้ามา เสริมทัพ เพราะถ้ามีแต่พวกนักธุรกิจการเมือง พวกต่อรอง ผลประโยชน์ นั่นก็ยิ่งทำให้พรรคตกต่ำไปอีก