วิเคราะห์การเมือง : อัตลักษณ์ “เฉียบ” ของ ไพรวัลย์ วรรณบุตร หลัก “คนเท่ากัน”

Home » วิเคราะห์การเมือง : อัตลักษณ์ “เฉียบ” ของ ไพรวัลย์ วรรณบุตร หลัก “คนเท่ากัน”


วิเคราะห์การเมือง : อัตลักษณ์ “เฉียบ” ของ ไพรวัลย์ วรรณบุตร หลัก “คนเท่ากัน”

สถานการณ์ “นินทาประเทศไทย” ทำให้ภาพของ นายไพรวัลย์ วรรณบุตร โดดเด่น
เป็นความโดดเด่นในท่ามกลางความเห็น “ต่าง” อย่างรุนแรงแรง ต่อปัญหาภาพลักษณ์และการเคลื่อนไหวทางสังคมของ นายไพรวัลย์ วรรณบุตร

แตกต่างจากภาพ พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ ในอดีต
เป็นความแตกต่างไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความแคลงคลางกังขา หากแต่ยังดำเนินไปในกระแสแห่งความเรียกร้องและกดดันอย่างต่อเนื่อง

กดดันให้ นายไพรวัลย์ วรรณบุตร เป็นอย่างที่ “ต้องการ”

ความเรียกร้องและกดดันนั้นล้วนกระทำในนามแห่ง “ความปรารถนาดี” ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะมาจากความไม่สบอารมณ์ในท่วงท่าและการแสดงออก ไม่ว่าจะมาจากความไม่ต้องการให้ถลำลึกลงไปในปลักแห่งผลประโยชน์

ต้องการให้ นายไพรวัลย์ วรรณบุตร มีคุณค่าต่อ “สังคม”
ความหมายก็คือ ต้องการให้ นายไพรวัลย์ วรรณบุตร เล่นบทวิพากษ์สังคม ไม่ต้องการให้ นายไพรวัลย์ วรรณบุตร ฉวยโอกาสสร้างความร่ำรวย

เหมือนกับเป็น“เจตนาดี” แต่ก็น่าแคลงใจใน“เป้าหมาย”
แท้จริงแล้ว นายไพรวัลย์ วรรณบุตร มิได้หยุดนิ่งในการแสดงตัวตนของตนเลย

ด้านหนึ่ง เขามีความจำเป็นในทางส่วนตัวเมื่อเป็น “ฆราวาส” คือ ต้องทำมาหากิน ต้องประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ ยืนอยู่โดยลำแข้ง

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง เขาก็ยังเป็น “ไพรวัลย์” อันแข็งแกร่งและมั่นคง
สังคมมองข้าม “คำประกาศ” ถึงความเชื่อในเรื่อง “เพศสภาพ” ที่ นายไพรวัลย์ วรรณบุตร แสดงออกอย่างต่อเนื่องเสมือนกับไม่มีความหมาย

ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วนี่คือ “คำประกาศ” อันสำคัญยิ่งในทาง “ความคิด”

การแปรเปลี่ยนจาก “มหาไพรวัลย์” มาเป็น นายไพรวัลย์ วรรณบุตร ยังสำคัญอยู่
สำคัญตรงที่เขายังเป็นตัวของตัวเอง ยังคงให้ความเคารพ “ตนเอง” ขณะเดียวกัน ก็ให้ความเคารพต่อ “คนอื่น” อย่างไม่แปรเปลี่ยน

“หลักการ” นี้ของ นายไพรวัลย์ วรรณบุตร สมควรให้ความคารวะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ