กรณีการติดเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 จำนวนครึ่งหนึ่งของโลกในขณะนี้ นักวิจัยพบว่าเป็นการติดเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่เป็นเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอวัน (BA.1)
แต่เมื่อไม่นานมานี้ เริ่มมีรายงานว่าพบการแพร่กระจายของเชื้อโอมิครอนแบบใหม่ที่เรียกว่าสายพันธุ์ย่อยบีเอทู (BA.2) โดยมีผู้ติดเชื้อนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียและยุโรป และดูเหมือนว่าจะติดต่อกันได้รวดเร็วยิ่งกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอวันเสียอีก
สายพันธุ์ย่อย “ล่องหน”
เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทูนั้นได้ฉายาว่าเป็นไวรัส “ล่องหน” เนื่องจากไม่มีหน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า มันเป็นเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดเดลตากันแน่
แม้ผู้ติดเชื้อชนิดนี้จะมีผลตรวจโควิดเป็นบวกจากการใช้ชุดทดสอบ ATK หรือจากการตรวจแบบ PCR แต่ก็ไม่อาจจะทราบได้ว่าเป็นเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทูหรือไม่ จนกว่าจะมีการใช้เทคนิคแบบพิเศษเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติม
ดูเหมือนว่าสายพันธุ์ย่อยบีเอทูจะแพร่กระจายได้ง่ายยิ่งกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมมาก แต่โชคดีที่ในขณะนี้นักวิจัยยังไม่พบข้อมูลซึ่งชี้ว่า สายพันธุ์ย่อยบีเอทูจะทำให้เกิดอาการของโรคโควิดที่รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์ย่อยบีเอวันได้
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทูคืออะไร
ไวรัสนั้นมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเชื้อกลายพันธุ์บางตัวก็สามารถกลายพันธุ์ต่อไปได้อีก จนเกิดสายพันธุ์ย่อยขึ้นเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือเชื้อก่อโรคโควิดสายพันธุ์เดลตา ปัจจุบันมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม จนแตกแขนงออกไปเป็นสายพันธุ์ย่อยถึง 200 ชนิดด้วยกัน
ปัจจุบันพบสายพันธุ์ย่อยของเชื้อโอมิครอนแตกแขนงออกไปถึง 4 สาย ได้แก่บีเอวัน (BA.1) บีเอทู (BA.2) บีเอทรี (BA.3) และ B.1.1.529 โดยองค์การอนามัยโลกระบุในรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2022 ว่า ข้อมูลดีเอ็นเอของไวรัสโควิดที่ถูกส่งเข้ามาจากทั่วโลกนั้น 99% เป็นของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอวัน
ยังไม่แน่ชัดว่าเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทูมีแหล่งกำเนิดจากไหน แต่มีการตรวจพบครั้งแรกในฐานข้อมูลพันธุกรรมไวรัสของประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว
กำลังแพร่ระบาดในที่ใดบ้าง
นับแต่นั้นเป็นต้นมา กว่า 40 ประเทศทั่วโลกได้ตรวจพบสายพันธุ์ย่อยนี้ และได้บันทึกข้อมูลพันธุกรรมของมันลงในฐานข้อมูลระดับชาติ ขณะนี้องค์การอนามัยโลกระบุว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทูได้กลายเป็นเชื้อโควิดสายพันธุ์หลักที่มีการระบาดวงกว้างในหลายประเทศไปแล้ว ซึ่งรวมถึงฟิลิปปินส์ เนปาล กาตาร์ อินเดีย และเดนมาร์ก ในบางพื้นที่มีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
สถาบันซีรัมแห่งชาติ (SSI) ของเดนมาร์ก เผยว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในประเทศขณะนี้ เป็นผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทู ส่วนที่อินเดียนั้น สายพันธุ์ย่อยดังกล่าวกำลังเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอวันอย่างรวดเร็ว
ดร. พิชัย ดากัล นักชีววิทยาระดับโมเลกุลของอินเดียบอกว่า พบเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทูขึ้นมาเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดเป็นวงกว้างในหลายรัฐ และเชื่อว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการระบาดของโควิดระลอกที่สามเมื่อไม่นานมานี้
ด้านกระทรวงสาธารณสุขของฟิลิปปินส์แถลงว่า พบสายพันธุ์ย่อยบีเอทูเป็นส่วนใหญ่ในตัวอย่างเชื้อโควิดที่รวบรวมได้เมื่อช่วงสิ้นเดือนมกราคม ส่วนสำนักงานความมั่นคงทางสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ก็ระบุว่าได้ยืนยันกรณีการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวแล้วกว่า 1,000 ราย
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอังกฤษยังคงกำหนดให้เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทูเป็น “สายพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ” ซึ่งหมายความว่าจะมีการจับตาเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ควรจะต้องวิตกกังวลจนเกินไปนัก
ดร.มีรา จันด์ ผู้อำนวยการด้านโรคโควิด-19 ของ UKHSA บอกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทูกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วที่ประเทศเยอรมนี จนกำลังจะแซงหน้าสายพันธุ์ย่อยบีเอวันและสายพันธุ์เดลตาแล้วเช่นกัน
ติดต่อได้ง่ายกว่าจริงหรือไม่
ผลการศึกษาของสถาบันซีรัมแห่งชาติเดนมาร์ก ซึ่งดำเนินการสำรวจประชาชนเป็นรายบุคคล 18,000 คน และสำรวจครัวเรือนอีก 8,500 หลังคาเรือน พบว่าเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทู มีอัตราการแพร่กระจายและติดต่อกันได้สูงกว่าสายพันธุ์ย่อยบีเอวันอย่างมาก
สายพันธุ์ย่อยนี้ยังทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบโดสแล้ว รวมทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่สาม ยังคงสามารถติดเชื้อโควิดได้ โดยมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่าที่โอมิครอนสายพันธุ์บีเอวันเคยทำไว้หลายเท่า อย่างไรก็ตาม คนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีโอกาสแพร่เชื้อต่อให้กับผู้อื่นได้น้อยกว่า
ผลวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของสหราชอาณาจักรก็พบว่า สายพันธุ์ย่อยบีเอทูมีความสามารถในการแพร่กระจายตัวและทำให้เกิดการติดต่อได้สูงกว่าสายพันธุ์ย่อยดั้งเดิม แต่ผลประเมินเบื้องต้นยังไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่า สายพันธุ์ย่อยบีเอทูจะทำให้วัคซีนโควิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงลดลง ส่วนผลประเมินของสายพันธุ์ย่อยบีเอวันก็เป็นเช่นเดียวกัน
อันตรายกว่าหรือเปล่า
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลและหลักฐานที่บ่งชี้ว่า เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทูจะทำให้เกิดอาการของโรคโควิดที่รุนแรงยิ่งไปกว่าสายพันธุ์ย่อยบีเอวัน
ดร.บอริส พาฟลิน จากองค์การอนามัยโลกบอกว่า “เมื่อไปดูกรณีของประเทศที่สายพันธุ์ย่อยบีเอทูกำลังเข้ามาแทนที่บีเอวัน เราพบว่าสถิติของผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเกินความคาดหมายแต่อย่างใด”
ดร. พาฟลินมองว่า แม้สายพันธุ์ย่อยบีเอทูจะเข้ามาแทนที่บีเอวันอย่างเต็มตัว ก็จะไม่เกิดผลกระทบต่อทิศทางการระบาดหรือการรักษาผู้ป่วยมากเท่าใดนัก “คาดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบร้ายแรง แต่เรายังคงต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้” ดร.พาฟลินกล่าว
สำหรับเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอวันที่ระบาดมาก่อนหน้านี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายรายรวมทั้งดร.พาฟลินมองว่า วัคซีนที่มีอยู่ยังคงสามารถใช้ป้องกันอาการป่วยรุนแรง การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากเชื้อโอมิครอนได้ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ดร. ชันด์กล่าวเตือนว่า “จนถึงตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะตัดสินได้ว่า สายพันธุ์บีเอทูจะทำให้เกิดอาการของโรคโควิดที่ร้ายแรงกว่าบีเอวันหรือไม่ ในขณะที่ยังต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เราควรจะระวังรอบคอบและฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน ตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และตรวจหาเชื้อแบบพีซีอาร์เพิ่มเติมเมื่อมีอาการของโรคโควิดแสดงออกมา”
……………………………
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว