สภาฯรุมถล่ม ส.ว. ตีกลับร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม ห้ามขายออนไลน์ ต้องตั้งกมธ.ร่วมพิจารณาทบทวน เพื่อไทยอภิปรายซัด ส.ว.ใช้อคติทำกฎหมาย
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณากรณี วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ….
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หลังจากวันที่ 24 ส.ค.2564 เราได้ปลดล็อกพืชกระท่อม ออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 วันนี้พืชกระท่อมเหมือนผัก ผลไม้ ประเภทอื่นๆ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดระบุว่าเป็นยาเสพติด พืชกระท่อมมีประโยชน์มหาศาล ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับส.ว. ที่มีการแก้ไขว่าห้ามขายโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะในโซเชี่ยลจะเห็นการโฆษณาขายต้นกระท่อม ผลิตภัณฑ์กระท่อม และงานวิจัยเต็มไปหมด การแก้ไขของส.ว. จึงเป็นการล็อกไม่ให้พืชกระท่อม เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เพราะหากไม่ขายในโซเชี่ยลแล้วจะซื้อกันได้อย่างไร
“กัญชา กัญชง ถูกล็อกมานาน วันนี้ล้ำหน้าพืชกระท่อม สามารถปลูกได้แล้ว ส.ว.เคยกินใบกระท่อมหรือไม่ เคยศึกษาหรือไม่ คนภาคใต้เริ่มมีเศรษฐกิจดีขึ้น ขายส่งไปทั่วประเทศ เป็นเศรษฐกิจฐานรากที่ทำให้ประชาชนมีโอกาส ทำนา 10 ไร่ แบ่งมาปลูกพืชกระท่อม 1 ไร่ 250 ต้น แค่นี้ก็มีรายได้ประจำวันแล้ว จึงไม่อยากให้สภารับการแก้ไขของส.ว.” นายพิเชษฐ์ กล่าว
ขณะที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า การห้ามโฆษณาขายในออนไลน์ มันแปลกมาก ส่วนประเด็นอื่นก็แก้ไขเล็กๆน้อยๆ หยุมหยิม แต่จะต้องมาตั้งกมธ. แทนที่จะได้ออกเป็นกฎหมาย เมื่อใบกระท่อมถูกถอนออกจากพืชยาเสพติดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมาระวางโทษมากมาย บางทีกฎหมายเราก็แปลกๆ มันเสียเวลา ทำให้กฎหมายออกมาล่าช้า
ด้านนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนเข้าใจความเป็นห่วงของส.ว. แต่การห้ามขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ตนเคยพูดเมื่อตอนการขายสุราออนไลน์ว่าห้ามไม่ได้ เพราะถ้าห้ามก็จะมีคนขายเถื่อนอยู่ดี ดังนั้น นำมาขายออนไลน์และออกกฎระเบียบให้ชัดเจน โดยให้ยืนยันระบุตัวตนก็ได้ เชื่อว่ารัฐบาลทำได้ เพราะการจะหยุดกระแสโลก ทั้งที่ส่วนใหญ่ซื้อขายออนไลน์กันแล้ว ส่วนตัวก็ไม่เข้าใจ ท่านแก่กว่าก็จริง แต่ไม่ได้อยู่ในปัจจุบันเหมือนตนหรือ จึงอยากให้สภาลงความเห็นด้วยกับการยืนตามร่างเดิมให้ขายออนไลน์ได้
จากนั้นที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วยกับการที่ส.ว.แก้ไขเพิ่มเติมด้วยเสียง 273 เสียง เห็นด้วย 7 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง โดยกระบวนการหลังจากนี้คือตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ… จำนวน 20 คน
นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณา ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ… และร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ… ที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ปรากฎว่าส.ส.ลงมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่วุฒิสภาแก้ไข และได้ตั้ง กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาทบทวนเนื้อหาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ส.ส.ต่างอภิปรายตำหนิการทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายของวุฒิสภา ที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ และพบการแก้ไขที่เกินหลักการของร่างกฎหมาย เช่น ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ ที่พบว่าส.ว. ได้แก้ไขมาตรา 3 โดยเพิ่มข้อความในคำนิยามของคำว่าพยาน “ไม่ให้รวมถึงจำเลยซึ่งศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษและหลบหนี”
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ข้อความที่เพิ่มเติมคือ การเขียนกฎหมายโดยอคติและเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ การเขียนกฎหมายต้องออกโดยทั่วไป เพื่อบังคับใช้กับประชาชนทุกคนเท่าเทียม ไม่ใช่เจาะจงไปยังบุคคลใด ซึ่การเขียนประโยคดังกล่าว ในทางกฎหมายไม่มีประโยชน์ เพราะบุคคลที่หลบหนี กระบวนการยุติธรรมครอบคลุมดำเนินการที่ครบถ้วน ไม่ต้องเขียน และตนมองว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่าอาย
ทั้งนี้ นายชวน กล่าวว่า เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด โดยส่งส.ส.ที่รอบรู้ไปให้เหตุผล ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ให้ความนับถือกัน อย่าไปว่าใคร