“หมอธีระวัฒน์” ไขทุกปม ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุหลักพัน เผยสงครามใหญ่กำลังจะเกิด! ต้องฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน ปล่อยนานพัฒนาการโรคจะรุนแรงขึ้น ย้ำฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีด
รายการโหนกระแส วันที่ 14 เมษายน 2564 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น.ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดสถานการณ์โควิด-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อทะลุหลักพันแล้ว โดยสัมภาษณ์ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์หรือหมอดื้อ?
นพ.ธีระวัฒน์ : “เราดื้อที่จะให้ความเป็นจริง โดยไม่เบี่ยงเบนประเด็น”
สรุปครั้งนี้หนักกว่าครั้งก่อนจริงมั้ย?
นพ.ธีระวัฒน์ : “หนักกว่าครั้งก่อนมาก และไม่เหมือนปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วเราเชื่อมต้นตอ โยงใยได้ ตามผู้สัมผัสได้ เก็บได้หมด แต่ปัจจุบันตรงนี้ ต้องเรียนให้ทราบว่าตั้งแต่ปีที่แล้วจนกระทั่งถึงปัจจุบันก่อนเกิดที่สมุทรสาคร มีการกระจายอย่างเงียบๆ ในพื้นที่ที่ไม่มีสถานบริการเลย ไม่มีผับบาร์ คือเกิดในชนบทที่มีตลาด หมู่บ้านเท่านั้นเลย และมีการกระจายโดยไม่มีอาการ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ต้นปีนี้สักประมาณสามเดือนของปีนี้อยู่ที่ 7.1 เปอร์เซ็นต์ การที่ในทุกพื้่นที่ที่มีการระบาดเงียบๆ ปริมาณไม่มากนัก ในคนที่ไม่มีอาการแบบนี้ เมื่อเข้าไปชุมนุมในผับอย่างทองหล่อ ก็เลยเกิดเป็นก้อน แตกกระจุกและกระจายออกไป”
1,335 ราย ดูแล้วมองยังไง?
นพ.ธีระวัฒน์ : “ตัวเลขนี้ไม่น่าตกใจ ไม่น่าวิตก เราทราบดีว่าแท้จริงแล้ว มีผู้ติดเชื้อไม่ได้ตรวจอยู่เยอะพอสมควร ตัวเลขที่เห็นเป็นตัวเลขซึ่งเป็นตามในกลุ่มที่สัมผัส และในกลุ่มที่ต้องสงสัยเท่านั้นเอง แต่คนที่ไม่ได้ตรววจและติดเชื้อ เดินไปเดินมาอีกเยอะแยะมากมาย”
1,335 ราย ยังเฉยๆ เพราะกำลังบอกว่าตัวเลขจริงๆ มากกว่านั้นเยอะและไม่มีการตรวจ?
นพ.ธีระวัฒน์ : “เป็นความจำกัดของกระบวนการในการตรวจ เนื่องจากเราไม่สามารถตรวจทุกคน ตรวจทุกที่ได้ ดังนั้นตัวเลขตรงนี้เป็นตัวเลขในกลุ่มคนที่เข้าไปติดตามแค่นั้นเอง ตรงนี้มีความหมายมาก เพราะกำลังจะนำเรียนให้ทราบว่าเมื่อเกิดเรื่องตรงนี้ ทุกคนที่เดินไปเดินมา ณ ขณะนี้ เราเรียกว่ามีเสี่ยงหมด ผมเองก็ต้องสงสัยว่าคุณหนุ่มติดหรือเปล่า ผมก็สงสัยตัวเองว่าติดหรือเปล่า ขณะนี้มีความสงสัยทั้งตัวเองและคนเดินไปเดินมา เป็นวิธีที่ถูกต้อง ดังนั้นเราต้องป้องกันตัวเองจากเชื้อที่มาจากข้างนอก และขณะเดียวกันต้องป้องกันตัวเองไม่ให้เชื้อที่เราครองอยู่ไปหาคนอื่น นั่นคือต้องรักษาตัวเองและรักษาระยะห่าง ถ้าเราทำแบบนี้ในคนไทยทุกคน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยสงบได้เลย ที่ติดแล้ว ณ ขณะนี้ที่เรียนถามท่านรองผอ. รพ. บำราศนราดูร อ.วิศิษฎ์ ตอนนี้ในรพ. บำราศนราดูรนั้น ติดเต็มหมดเลย แต่จะมีผู้ที่มีอาการอยู่ 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราหยุดยั้งตรงนี้ได้ ไม่ให้คนติดเชื้อหนักขึ้น หนักถึงขั้นเข้าไอซียู และหนักวิกฤต ตรงนั้นเราชนะ แต่ถ้ายังปล่อยให้ระบาดไปเรื่อยๆ เนียนๆ ไปอย่างนี้ ลักษณะพัฒนาการของโรคจะรุนแรงมากขึ้น และในที่สุดเตียงที่อยู่ในรพ. ซึ่งเป็นผู้ไม่มีอาการ ก็จะไม่มีเตียงให้สำหรับผู้มีอาการจริงๆ และต้องช่วยชีวิต”
มองเรื่องเตียงยังไง?
นพ.ธีระวัฒน์ : “เข้าใจความหวังดีกระทรวงสาธารณสุข มุ่งหวังว่าถ้าเจอคนติดเชื้อปุ๊บ ประการที่หนึ่งต้องป้องกันไม่ให้เขาแพร่ออกไป สองมีคนติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวว่าปอดบวมอยู่ แต่เดินไปเดินมา คนเหล่านี้ กระทรวงสาธารณสุขมีความหวังดีอย่างยิ่ง ที่จะช่วยชีวิตเขาโดยเฝ้าดูอาการ เลยให้เข้าไปรพ. เมื่อเจอเป็นบวกปุ๊บให้เข้ารพ. เฝ้าดูอาการ ถ้ารพ.ไม่พอก็เข้าฮอสพิเทล ซึ่งเป็นรพ.สนาม”
ภาครัฐประกาศแล้วว่าคนพบเชื้อยังไงต้องไปรพ. แต่สวนทางกันตรงที่มีประเด็นเรื่องเตียงไม่พอ และลามไปถึงมีรพ.สนามเกิดขึ้น แต่คนในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง ไม่อยากนอนรพ.สนาม เหมือนไปอยู่เรียงกันเป็นตับ อยากอยู่รพ.เป็นสัดส่วน มันเลยอิหลักอิเหลื่อตรงนี้ จะแก้ไขยังไง?
นพ.ธีระวัฒน์ : “ตรงนี้เองเรามองสถานการณ์ต้องมีความยืดหยุ่น เรารับทราบความคับขันและความจำกัด ถ้าคนติดเชื้่อและไม่มีอาการ ขณะเดียวกันตรวจสอบมีความรู้ความเข้าใจ มีการกักตัวที่บ้าน 14 วัน ขณะเดียวกันไม่ได้เถลไถลไปที่ไหน เมื่อกักตัวไปแล้ว 14 วันจริงๆ ไม่ต้องตรวจก็ยังได้ เมื่อครบ 14 วันแล้ว อีก 14 วันถัดมาป้องกันตัวเองสูงสุด เพื่อไม่ให้แพร่ไป จะเป็น 14+14 ตรงนี้จะมีความยืดหยุ่น แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามพบว่าไม่สามารถกักตัวได้เพราะจำกัดเรื่องที่พักอาศัย หรือไม่แน่ใจตัวเองมีวินัยได้พอ ต้องเข้ารพ.สนาม แต่กฎเดียวกันใช้พร้อมกันไม่ได้ทุกคน อาจต้องมีความยืดหยุ่น ตรงนี้เองจะทำให้เราประหยัดแรงงานและกำลังเจ้าหน้าสาธารณสุขรับมือกับสงครามใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้น”
ก่อนหน้านี้อาจารย์โพสต์เหมือนกับว่า ด่านหน้ากำลังจะเอาไม่อยู่แล้ว บุคลากรทางการแพทย์ตั้งรับจะไม่ไหวแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นไง?
นพ.ธีระวัฒน์ : “จริงๆ แล้วพวกเราด่านหน้าไม่ได้ดูโควิดอย่างเดียว พวกเราต้องรับผิดชอบประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่ใช่โควิด และประชาชนเหล่านี้มีเยอะมากที่ต้องการการดูแลรักษาครบถ้วน หรืออาจต้องมีการผ่าตัด ดังนั้นกำลังคนที่ต้องดูแลคนที่ไม่เป็นโควิดอยู่แล้ว และต้องมารองรับผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยติดเชื้อตรงนี้อาจอาการไม่ได้มากนัก ดังนั้นมีความยืดหยุ่นได้หรือไม่ ให้บางส่วนได้เข้าไปกักตัวเองที่บ้านด้วยที่นำเรียนไปก่อนหน้านั้น”
อาจารย์บอกตัวเลขนี้ไม่น่าตกใจ น่าจะมีสูงกว่านี้?
นพ.ธีระวัฒน์ : “เรามีลักษณะผู้ติดเชื้อ จะเรียกว่าเพ่นพ่านอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ปะทุขึ้นมามีอาการ พอเราเห็นตัวเลขนี้เราไม่ตกใจ แต่เราต้องตระหนักว่าเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เราต้องปฏิบัติตัวดี รักษาระยะห่างซึ่งสำคัญที่สุด”
หลังสงกรานต์คนกลับเข้ามา ตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้?
นพ.ธีระวัฒน์ : “ถ้าตรวจได้ครบ”
คนไม่มีอาการ แล้วติดเชื้อโควิด บังเอิญไปฉีดวัคซีน มีอันตรายมั้ย?
นพ.ธีระวัฒน์ : “ข้อมูลตรงนี้ไม่มีใครรู้แน่นอน แต่ถ้าติดเชื้ออยู่แล้วไปฉีดวัคซีน วัคซีนไม่ได้ไปช่วยอะไรเลย เพราะวัคซีนที่เรามีอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ อย่างซิโนแวค ซึ่งเป็นเชื้อตาย สองแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ซิโนแวคเมื่อฉีดไปแล้วเข็มแรก กว่าจะเห็นภูมิโผล่มาในเลือด เข็มแรกไม่โผล่มาเลย จนกว่าจะฉีดเข็มที่สองถึงจะเริ่มเห็น ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นภูมิได้ดีกว่า อย่างน้อยที่สุดประมาณ 2 สัปดาห์หลังฉีดหรือนานกว่านั้นถึงค่อยเห็น ดังนั้นเวลาฉีดวัคซีนไปแล้ว จะเห็นว่สามีผู้ฉีดวัคซีนครบแล้วกระชากหน้ากากทิ้ง กระโดดโลดเต้นว่าหายแล้ว หรือคนพอมีเชื้อ เดินออกไปเฟซบุ๊กไลฟ์ว่าเชื้อหายเรียบร้อย ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิดเพราะมันต้องใช้เวลา ไม่ว่าฉีดวัคซีนไหนก็ตาม หรือวัคซีนประเทศนอกที่เราไม่ได้นำเข้ามา เมื่อฉีดไปแล้วครบสองเข็มก็ตาม ก็มีสิทธิ์ติดเชื้อได้ แต่การฉีดวัคซีนตรงนี้มีความหมายมาก เพราะเมื่อฉีดไปแล้ว คนติดเชื้อไม่ตาย แต่การปล่อยเชื้อจะปล่อยเชื้อจำนวนน้อยลง และระยะเวลาสั้น ถ้าประเทศไทยฉีดได้ครบทุกคนจะหยุดยั้งการระบาดไป ต้องมากกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ”
ถึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่?
นพ.ธีระวัฒน์ : “ตรงนี้ทั่วโลกวิเคราะห์แล้ว ต้องมากกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ ต้อง 70-90 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าอย่างที่เรียนไป เมื่อฉีดไปแล้ว ยังสามารถรับเชื้อได้ คนไม่ได้ฉีดก็จะได้รับเชื้อไปด้วย เชื้อที่ได้รับเข้าไปก็จะกลับมาหาคนฉีดวัคซีนไปแล้ว ประเด็นใหญ่เมื่อไหร่ก็ตามปล่อยให้มีการแพร่ไปเยอะ เชื้อนั้นจะกลายรหัสพันธุกรรม จะเกิดตัวประหลาดเกิดขึ้น อย่างฟิลิปปินส์ ก็เป็นเชื้อที่เฉพาะตัวเป็น มีลักษณะลูกผสมหลายถิ่นที่ดื้อต่อวัคซีน ในฟิลิปปินส์ดื้อมาก อินเดียก็ดื้อมาก เวลาเราพูดถึงสายพันธุ์อังกฤษไม่ต้องตกใจ เพราะดโผล่มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ติดไป 100 กว่าประเทศๆ ดังนั้นไม่ต้องตื่นเต้น เพราะรู้นานแล้ว รายงานที่เชื่อถือได้เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง คือวัคซีนที่ฉีดเอาสายพันธุ์อังกฤษอยู่ แต่สายพันธุ์อื่นยังน่าตกใจ เพราะจะลดประสิทธิภาพลง แต่ต้องไม่มีสายพันธุ์เฉพาะของไทยเกิดขึ้น ถ้าเราปล่อยให้ระบาด
ปัญหาอยู่ตรงที่ไม่มีวัคซีนให้ฉีด จะทำยังไง มีแค่สองยี่ห้อ จะช้าไปมั้ย ภาคเอกชนก็ไม่สามารถเอาเข้ามาได้ วัคซีนต้องการดีลกับภาครัฐ มันยังไงกันแน่?
นพ.ธีระวัฒน์ : “จุดประสงค์ที่ต้องการ ณ ขณะนี้ คือต้องการได้มากที่สุด และฉีดเร็วที่สุด ณ ขณะนี้ประมาณการณ์กันว่าฉีดไป 8 แสนราย ซึ่งมันไม่พอ ดังนั้นการที่เอกชน ได้แสดงเจตจำนงค์มา ความจริงแล้วเรื่องวัคซีน เข้าใจว่ากระทรวงสาธารณสุขพยายามแก้ปัญหานี้ เมื่ออย.รับรองเรียบร้อย อาจให้องค์การเภสัชกรรม รับไปเป็นตัวดิสซิบิลเตอร์ ขณะเดียวกัน โดยทั่วไปเราไม่ได้ห่วงรพ.เอกชนเท่าไหร่ เพราะสามารถรองรับผู้ป่วยมาจากทั่วโลกได้อยู่แล้ว เพียงแต่ระบบการรายงานและเฝ้าระวัง ติดตาม ต้องใช้ระบบเดียวกัน มาตรฐานเดียวกันกับสาธารณสุข และต้องคิดเรื่้องต้นทุนกำไรไม่ให้น่าเกลียด ถ้ารพ.เอกชนนำเข้ามาแล้ว ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่เอาเปรียบเกิน”
ไม่ใช่ยาปวดหัวเม็ดละบาท แต่คิดเม็ดละ 15 บาท?
นพ.ธีระวัฒน์ : “อันนั้นก็ไม่สมควร (หัวเราะ) ยังไงก็ตามโควิดเป็นเรื่องหากำไรไม่ได้ เป็นเรื่องประเทศชาติ บางกรณีหากำไร แต่ไม่ควรทำอยู่บ้าง แต่เรื่องนี้เด็ดขาด หากำไรไม่ได้ โกงไม่ได้ คอรัปชั่นไม่ได้ ยักย้ายถ่ายเทเงินทอนไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่ใช่ตัวเองได้กำไร เพราะในที่สุดตัวเองก็คงตายเหมือนกัน เพราะไปไหนไม่ได้ คนติดเชื้อไปหมด”
คาดว่าคนไทยพร้อมฉีด เอาสัก 30 ล้าน ได้ไตรมาสเท่าไหร่?
นพ.ธีระวัฒน์ : “(ยิ้ม) ประเทศภูฎานฉีดได้เป็นล้านคน 5 แสนคนภายใน 1 สัปดาห์ ความที่เราอาจมีมาตรการหรูมาก เพื่อป้องกันความปลอดภัย และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น กระบวนการต่างๆ เลยดูค่อนข้างช้า อีกอย่างพยาบาลที่ฉีด เหมือนที่ฉีดผม ปรากฎว่ามีจำนวนไม่มากนัก ต้องเข้าแถวเดินเข้ามาและฉีดไปหมดเลย ซึ่งทำได้ทุกรพ. ทำในรพ.เอกชนก็ได้”
ติดตรงไหน ทำไมไม่ได้ฉีดกันซะที?
นพ.ธีระวัฒน์ : “ตอบไม่ได้ ถามผมไม่ได้ อย่าเรียกทัวร์ลงครับ (หัวเราะ)”
เรื่องเตียง ตอนนี้มีประเด็นสับสน ตอนนี้รพ.เอกชนก็เต็มเหมือนกัน มีการเมาท์ว่ารัฐจ่ายไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เอกชนต้องการเก็บเตียงไว้ให้ลูกค้าต่างๆ นานา มองยังไง ปัญหานี้อยู่ตรงไหน ประโยชน์สูงสุดของประชาชนอยู่ตรงไหน?
นพ.ธีระวัฒน์ : “ตรงนี้ไม่ได้เข้าข้างใคร เข้าใจกระทรวงสาธารณสุขและ รพ. สิ่งสำคัญ หมอพยาบาลทำงานตอนนี้คือช่วยชีวิต ในเมื่อมีทรัพยากรจำกัด ทั้งกำลังคนและเตียง และคอยช่วยชีวิตด้วย เตียงทั้งหลายแหล่ เราเตรียมไว้สาหรับผู้ป่วยอาการหนัก เพราะใน 100 คนที่ติดเชื้อ 90 คนอาจไม่มีอาการเลย หรือคล้ายหวัด เชื้อหายได้ภายใน 14 วัน อีก 5 ใน 100 เข้าไอซียู ดังนั้นเตียงสาหรับกลุ่มหลังตรงนี้ ไม่ผิดถ้าใน 90 ใน 100 นั้่น ถ้าเป็นไปได้หรือไม่นอนอยู่บ้าน ที่ตรวจสอบว่าจะทำได้ ไม่แพร่เชื้อ”
ถ้าเขารับไม่ได้เหมือนกัน ถ้าติดเชื้อนอนอยู่ในคอนโด ห้องข้างๆ หรือทั้งคอนโดเขาอาจไม่แฮปปี้ กลัวติดลูกหลาน อีกอย่างการคุมตัวเอง อาจคุมไม่ได้?
นพ.ธีระวัฒน์ : “หนึ่งต้องไม่ดราม่า ถ้าอยู่ชั้นเดียวกันคนละห้อง สิ่งต้องระวัง คือพื้นที่ใช้ร่วมกัน ลิฟท์ หรือราวบันไดเดินลง หรือห้องอาหาร ถ้าทำได้ แอลกอฮอล์ล้างมือ พื้นผิวทำความสะอาด ถ้าคนติดเชื้อซึ่งก็ไม่ทราบว่าคนนั้นติดเชื้อหรือเปล่า อาจเป็นคนอื่นก็ได้ เราถือว่าเรากลัวตายที่สุด เมื่อจับอะไรก็ตามแต่ พะวงมือเข้าหน้า ตรงนั้นต้องล้างมือก่อน พื้นผิวต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อน เท่านั้นเอง”
โฟนอิน “ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์” นายกสมาคมรพ.เอกชน หลายคนวิจารณ์ว่ารพ. เต็มไปหมด ติดต่อหาเตียงไม่ได้ จะชี้แจงยังไง?
นพ.เฉลิม : “จริงๆ แล้วการระบาดรอบสาม ปกติในอดีตรพ.เอกชนที่รัฐตรวจสตรีมมิ่งโควิดต่างๆ เขาจะรับผู้ป่วยไว้ที่รพ.เขา แต่ขณะนี้เตียงที่กันไว้สำหรับโควิดที่สำรวจปีที่แล้ว มันล้นหมด ต่างคนต่างช่วยกันขยาย อย่างในพื้นที่กทม. คนเข้ารพ.อาจจะมากกว่า 500 ประเด็นที่รพ.เอกชนในเครือข่ายใหญ่ๆ กำลังแก้ไขกันอยู่คือเราใช้ฮอสพิเทล โดยผ่านกรมสนับสนุนบริการเพื่อเพิ่มจำนวนเตียงเข้ามามากๆ ปัจจุบันน่าจะได้ใกล้ๆ 3-4 พันเตียง กักตัวในโรงแรมคู่รพ.”
รพ.ไปดีลกับโรงแรมเอาไว้ ส่งไปที่โรงแรม แต่คุณหมอตามไปดูที่นั่น?
นพ.เฉลิม : “คนไข้อาการที่ติดเชื้อโควิดในรอบนี้ เป็นสายพันธุ์อังกฤษ อาการทั่วไปไม่ได้รุนแรง โดยทฤษฎีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ค่อยมีอาการอะไร คนไข้พวกนี้หลังคัดกรองจากโรงพยาบาล จะส่งไปกักกันตัวที่โรงแรม เนื่องจากมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมา จะให้กักกันตัว 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการขยายเตียงเข้ารพ. เพื่อสแปร์สำหรับคนไข้หนัก ส่วนคนที่ไม่มีอาการก็ไปโรงแรม ตอนนี้เครือข่ายรพ.เอกชนที่ช่วยกันทั้งระบบ น่าจะเห็นในสัก 4-5 วัน จะได้กักกันตัวทุกคน”
หลังจากนี้จะผ่อนคลายมากขึ้น?
นพ.เฉลิม : “ใช่ครับ ทุกคนช่วยกันแก้ปัญหา มาตรฐานกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขยายการป้องกันตัว จาก 10 วันเป็น 14 วันที่ต้องไปกักตัว นั่นหมายถึงต้องการเตียงมากขึ้น”
เรื่องวัคซีน ในมุมรพ.เอกชน มีข่าวว่าน่าจะนำวัคซีนมาได้แล้ว บางที่บอกว่าวัคซีนต้องการดีลกับรัฐ ไม่ดีลกับเอกชน เป็นยังไง?
นพ.เฉลิม : เอาตามเนื้อผ้าของวัคซีน วัคซีนทั้งโลกอยู่ในเฟสที่ 3 แต่ละประเทศที่เอาเข้ามาใช้ รัฐบาลประเทศนั้นต้องประกาศการใช้ในภาวะฉุกเฉิน เหมือนประเทศไทย ที่มีสองตัว ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า รัฐบาลต้องประกาศ ทีนี้วัคซีนทั้งหมดของโรคนี้ เขาบอกว่าในระบบ โดยเฉพาะวัคซีนระดับโลก เขาจะดีลกับภาครัฐเป็นหลักอย่างเดียวครับ”
ภาคเอกชนเร็วๆ นี้จะมีเข้ามามั้ย?
นพ.เฉลิม : “เรารู้ว่าประเทศไทย ต้องการความหลากหลายของวัคซีนหลายยี่ห้อ ที่จะเข้ามา ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่มีข่าวว่ามีลิ่มเลือด เราอยากมีทุกยี่ห้อเพื่อให้เป็นทางเลือก ขณะนี้ต้องเรียนว่าสทางนายกฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนขึ้นมาหนึ่งชุด ต้องทำภารกิจนี้ให้จบภายใน 30 วัน จัดหาวัคซีนให้ประเทศไทยมีหลายยี่ห้อให้เหมาะสม เพราะตอนนี้วัคซีนภาครัฐเองที่สั่งมาแล้ว มีประมาณ 60 กว่าล้านโดส ต้องฉีดไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคนขึ้นไป รัฐบาลต้องหาเพิ่มด้วย ส่วนเราหาวัคซีนทางเลือก ทำภารกิจให้จบภายใน 1 เดือน”
สิ่งที่น่ากังวลนอกเหนือจากคนติดเชื้อโควิด คือบุคลากรทางการแพทย์ ตอนนี้เป็นห่วงมาก ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันสู้อีกแล้ว ย้อนหลังไป 1 ปีที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ทำงานเต็มที่ บางท่านติดโควิดกันไป ตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้นอีกแล้ว อยากให้ช่วยฝากสำหรับคนหละหลวม ได้รับเชื้อต้องเข้าไปรพ. ตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ แทบจะไม่พอ?
นพ.ธีระวัฒน์ : “ประเทศไทยเอง ถ้าอยากรู้สถานการณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องตรวจทุกคนที่เดินไปเดินมาว่าติดเชื้อหรือเปล่า เป็นโจทย์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่มี.ค. ปีที่แล้ว แต่ยังทำไม่ได้ เรายังไม่รู้สถานการณ์ที่แท้จริง สองตรงนี้ไม่ได้ดูโรคในแง่ร้าย ประเทศไทยไม่รอดแน่ ถ้าคนไทยไม่มีวินัย และยังทำตัวเหลวไหลอยู่ เช่น ไปสถานบันเทิง หรือปาร์ตี้กัน รพ.รับมือไม่ไหวแน่”
คนใช้ยากดภูมิ ฉีดวัคซีนได้มั้ย?
นพ.ธีระวัฒน์ : “ตรงนี้จะมีปัญหา สำหรับวัคซีนเชื้อเป็นถ้าฉีดไปแล้ว จะฉีดไม่ได้ต้องใช้วัคซีนเชื้อตาย เป็นข้อห้ามเลย เชื้อเป็นฉีดไม่ได้ ถึงแม้ตัวเองไม่มีอะไรเลยก็ตาม อาจจะแจ็คพอต แต่เรียนย้ำว่าเกิดขึ้นน้อยมาก แต่อาจเกิดแจ็คพอตแต่ก็รักษาได้”
ฉีดดีกว่าไม่ฉีด?
นพ.ธีระวัฒน์ : “ฉีดดีกว่าไม่ฉีดแน่ๆ”