ดาวเทียมจีนหวิดชนขยะอวกาศ ห่างแค่14.5เมตร มาจากรัสเซียยิงทำลาย
ดาวเทียมจีนหวิดชนขยะอวกาศ – วันที่ 20 ม.ค. เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า หนึ่งในดาวเทียมวิทยาศาสตร์ของจีนรอดพ้นการชนกันกับขยะอวกาศที่มาจากการระเบิดของดาวเทียมรัสเซียซึ่งถูกดาวเทียมยิงทำลายไป โดยเฉียดห่างไปเพียง 14.5 เมตรเท่านั้น
ศูนย์สังเกตการณ์ขยะอวกาศ องค์การอวกาศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CNSA) แจ้งเตือนความเสี่ยงระดับวิกฤตจากการชนกันระหว่างดาวเทียมวิทยาศาสตร์ ฉิงหัว และชิ้นส่วน 1,408 ชิ้น ซึ่งแตกตัวออกมาจากดาวเทียมที่รัสเซียยิงทำลาย
นายหลิว จิง ผู้เชี่ยวชาญด้านขยะอวกาศจาก CNSA กล่าวว่า ปัจจุบัน ขยะอวกาศส่วนใหญ่ยังโคจรอยู่ห่างจากดาวเทียมฉิงหัว โดยพบที่โคจรผ่านเข้าใกล้ที่สุดนั้นห่างเพียง 14.5 เมตร มีอัตราเร็วถึง 5.27 กิโลเมตรต่อวินาที
นายหลิว ระบุอีกว่า การเข้าใกล้กันระหว่างดาวเทียมและขยะอวกาศในระยะหลักสิบเมตรนั้นพบได้ยากอย่างยิ่ง เพราะปกติแล้วจะทิ้งระยะห่างกันหลายหมื่นกิโลเมตร
รายงานระบุว่า การระเบิดของดาวเทียมที่รัสเซียยิงขีปนาวุธขึ้นมาทำลายนั้นทำให้ผู้สังเกตการณ์ของจีนติดตามการเคลื่อนที่ของชิ้นส่วนที่แตกออกมา 1,408 ชิ้น และพบว่าชิ้นส่วนหลายชิ้นนั้นขยับเข้าใกล้ดาวเทียมของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่โคจรครบรอบโลก
“ตามปกติแล้วชาติทั่วโลกถ้าพบว่าดาวเทียมของตัวเองมีความเสี่ยงมากขึ้นถึงระดับหนึ่งก็จะต้องมีการปรับวงโคจรดาวเทียมใหม่ เช่นเดียวกันกับดาวเทียมของจีน ถ้าดูจากความเสี่ยงแล้ว น่าจะต้องปรับวงโคจรใหม่ครับ” หลิว ระบุ
ทั้งนี้ รัสเซียยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมที่ปลดระวางแล้วเมื่อ 15 พ.ย. 2564 ส่งผลให้มีชิ้นส่วนแตกออกมากว่า 1,600 ชิ้น กลายเป็นขยะอวกาศขนาดราว 10 เซนติเมตร โคจรอยู่ระดับ 400 ถึง 1,000 กิโลเมตร เหนือระดับน้ำทะเล
ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การปล่อยดาวเทียมของจีนขึ้นสู่วงโคจรหลายร้อยดวงนั้นทำให้ดาวเทียมของจีนมีความเสี่ยงที่จะชนกับขยะอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ
นายหวง จี้เฉียง ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมการบินและอวกาศ กล่าวว่า ขยะอวกาศกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ต่ออุตสาหกรรมอวกาศของมนุษย์ ส่งผลให้เทคโนโลยีการกำจัดขยะอวกาศกำลังถูกพัฒนาทั่วโลก
นายหวง ระบุว่า เทคโนโลยีและแนวคิดจำนวนมากอยู่ช่วงของการพัฒนา อาทิ การส่งยานขึ้นไปเก็บกวาด หรือการใช้เลเซอร์เผาทำลาย แต่ตนคาดไว้ว่ายังต้องอาศัยระยะเวลาอีกหลายปีกว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมออกมา