นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยปัญหาโรค อหิวาต์แอฟริกา ระบาดตั้งแต่ปี 62 ทำให้หมูหายจากวงจรเกินครึ่ง ร้องรัฐห้ามนำเข้าสุกรต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 ที่โรงแรมสการ์เลท จ.นครศรีธรรมราช นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยหลังประชุม ร่วมกับนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรจ.นครศรีธรรมราช เกี่ยวกับปัญหาสุกรขาดตลาด
นายโสภณ พรหมแก้ว นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า 2-3 ปี ที่ผ่านมากำลังการผลิตถดถอยเพราะแม่สุกรได้รับความเสียหายมาก และลูกสุกร ก็หายไปจากการผลิต จึงทำให้สุกรมีจำนวนไม่พอเพียงในการส่งเข้าตลาด ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดไม่ใช่เฉพาะภาคใต้แต่เป็นทั้งประเทศ
- อ่าน ปศุสัตว์ยืนยัน! ไทยไม่พบโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในหมู โต้ปกปิดข่าว
- อ่าน รมช.เกษตรฯ ยังไม่เห็นรายงาน หมูติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกา ขอดูรายละเอียดก่อน
- อ่าน รัฐยันไม่เคยปิดบังข้อมูล โรคระบาดในหมู เผย “บิ๊กตู่” หนุนงบวิจัย-พัฒนาวัคซีน
ดังนั้นในที่ประชุมสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้เราสรุปกันว่า เราจะไม่ขึ้นราคาสุกรมีชีวิต โดยจะตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน กก.ละ110 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เดือดร้อนไปมากกว่านี้ เพราะไม่อยากเป็นโจทย์ของสังคมว่า หมูแพงแล้วไข่แพงไก่แพงตามไปด้วย เพราะสาเหตุมาจากสุกรราคาสูงขึ้น ส่วนปัจจัยที่ 2 คือโรคระบาด คนในวงจรการผลิตก็ได้รับความเสียหาย บางรายต้องเลิกเลี้ยงไป
โอกาสนี้ตนคิดว่าในภาพรวมของการประชุมใหญ่ต้องการให้พี่น้องเกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรต่อไป ซึ่งคิดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะกลับมาปกติ และที่สำคัญต้องไม่ให้ภาครัฐนำสุกรจากต่างประเทศเข้ามา หากนำเข้ามาต้องเปิดเผยจำนวน นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคไม่เดือดร้อน
“เราก็ได้มีการพูดคุยกันนะครับว่าในส่วนของสุกรขุนที่ที่มีชีวิตตอนนี้มันต้องมีการสับเปลี่ยนโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของนครศรีธรรมราชภาคใต้ นำขึ้นไปสู่ภาคกลาง 7,500 ตัว โดยมีของบริษัทซีพี 4,000 ตัว เบทาโกร 3,500 ตัว เพื่อจะไปทดแทนในส่วนที่เยียวยาผู้บริโภคในส่วนของภาคกลาง
คือในลักษณะอย่างนี้นะครับเราต้องฟื้นฟูเกษตรกรขึ้นมา พี่น้องที่เคยเลี้ยงหมูที่หายไปจากวงจรต้องกลับมาโดยรอช่วงเวลา ให้มีการปรับเรื่องของวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่ซ้ำซ้อนอย่าให้เกิดความเสียหาย” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จ.นครศรีธรรมราช ระบุ
นายโสภณ กล่าวต่อว่า หากภาครัฐจำเป็นต้องนำหมูจากต่างประเทศเข้ามา ภาครัฐก็ต้องจ่ายเงินเยียวยาหรือสนับสนุนผู้เลี้ยงรายย่อยให้กลับเข้ามา ภาคใต้มีเกษตรกรเดิมถึง 20,000 ราย ซึ่งหายไปพอสมควร ตนเชื่อว่าเกษตรกรภาคใต้อยากกลับมา หวังว่าภาครัฐควรรับฟังประเด็นที่นำเสนอไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีการพูดถึงเรื่องปัญหาโรคระบาด เอเอสเอฟ ซึ่งผู้เลี้ยงประสบมาตั้งแต่เดือนเมษายน 62 ทำให้แม่สุกรหายไปจากวงจรจาก 1,100,000 ตัว เหลือ 500,000 ตัว ลูกสุกร 28 ล้านตัว เหลือ 12-13 ล้านตัว ซึ่งโอกาสที่หมูในประเทศจะเหลือแค่ 20% เป็นไปได้ หากเปิดประเทศคงไม่พอแน่นอน