เอกชน ชี้ ‘โอมิครอน’ คือความเสี่ยง ที่ต้องอยู่ร่วมให้ได้ ค้าน ‘ล็อกดาวน์’ ทั้งประเทศ

Home » เอกชน ชี้ ‘โอมิครอน’ คือความเสี่ยง ที่ต้องอยู่ร่วมให้ได้ ค้าน ‘ล็อกดาวน์’ ทั้งประเทศ


เอกชน ชี้ ‘โอมิครอน’ คือความเสี่ยง ที่ต้องอยู่ร่วมให้ได้ ค้าน ‘ล็อกดาวน์’ ทั้งประเทศ

หอการค้าไทย ย้ำ “ไม่เห็นด้วย” หากต้อง Lockdown (ล็อกดาวน์) ประเทศทั้งหมด ชี้ โควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” คือความเสี่ยง ที่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้

วันนี้ (6 ม.ค. 65) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากที่ กระทรวงสาธารณสุข ประกาศยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 จากเดิมระดับ 3 ปรับขึ้นเป็นระดับ 4 โดยจะมีข้อแนะนำและมาตรการเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีการปิดสถานที่เสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ รวมถึงชะลอการเดินทาง เช่น การไปทำงานก็ให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) การเดินทางข้ามจังหวัด การเคลื่อนย้ายของคน และการจำกัดการรวมกลุ่มว่า

หอการค้าไทยอยากให้มีการพิจารณาถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่รอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ถึงแม้ปัจจุบันจะทราบกันดีว่าสายพันธุ์โอมิครอนมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว และมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลปีใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้นมา และไทยคงหลีกเลี่ยงการระบาดที่จะขยายวงกว้างมากขึ้นไม่ได้

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงอาการจะพบว่าไม่ได้รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลต้า ในขณะที่หลายประเทศในยุโรป ที่มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ก็มีอัตราการหายที่รวดเร็วเช่นกัน ทั้งนี้ ประชากรส่วนใหญ่ของไทยต่างได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง รวมทั้ง ระบบสาธารณสุขที่ยังคงสามารถรองรับผู้ป่วยได้ จึงคิดว่าการดำเนินมาตรการในช่วงนี้คงต้องเน้นการเพิ่มความระมัดระวัง คุมเข้มสถานประกอบการที่มีประชาชนใช้บริการอย่างหนาแน่น และเร่งการ Boost เข็ม 3–4 ให้กับประชาชน ตามที่รัฐบาลได้เตรียมการไว้แล้วให้มากที่สุด ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น และลดความรุนแรงของการติดเชื้อได้

“หอการค้าไทยไม่เห็นด้วย หากภาครัฐจะยกระดับมาตรการ ด้วยการ Lockdown ทุกกิจกรรมของประเทศ เพราะสถานการณ์ในวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับวัคซีน ต่างจากกลางปีที่แล้วที่การฉีดวัคซีนและปริมาณวัคซีนยังมีน้อยและไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเสียหายมหาศาลกับเศรษฐกิจแล้ว ยังจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนภายในประเทศลดลง

เนื่องจากที่ผ่านมา บรรยากาศของประเทศเพิ่งกลับมาคึกคัก หลายภาคส่วนมีความหวังในการตั้งต้นและเดินหน้าธุรกิจใหม่ในปี 2565 และประชาชนเริ่มสามารถดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น หากกลับไป Lockdown จะทำให้ประเทศต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ส่วนภาครัฐเองก็จะต้องหามาตรการเยียวยาฟื้นฟูประเทศใหม่ และจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ที่ผ่านมาหอการค้าไทยได้รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัด เห็นว่าควรเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน และมองว่าการใช้มาตรการดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเพียงการหยุดการแพร่ระบาดในช่วงเวลาอันสั้น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น” นายสนั่น กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเน้นการเพิ่มมาตรการคุมเข้มในพื้นที่เสี่ยง จัดเตรียมระบบสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดให้มีความพร้อม โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยรุนแรง ให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดเพิ่มความคุมเข้มและสร้างความเข้าใจที่ดีกับประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยนำมาตรการ Home Isolation / Hospitel กลับมาใช้

ส่วนภาคเอกชนพร้อมนำมาตรการ Bubble and Seal กลับมาเป็นแนวทางของแต่ละกิจการอีกครั้ง เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจในแต่ละพื้นที่ สำหรับประชาชนที่มีการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น เอกชนเห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลที่ขอให้มีการ Work From Home ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและติดตามอาการ ถือเป็นรูปแบบที่ดี เพราะจะช่วยควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดเพิ่มเติม และให้อยู่ในระดับที่ธุรกิจยังเดินหน้าต่อไปได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ