ผู้นำอเมริกา-รัสเซียหารือปมยูเครน – เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. บีบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เตือนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ว่า หากดำเนินมาตรการลงคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจะถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์และอาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติขาดสะบั้นลง ระหว่างการหารือสถานการณ์ตึงเครียดในประเทศยูเครนทางระบบออนไลน์ของผู้นำทั้งสอง
รายงานระบุว่า คำเตือนของผู้นำรัสเซียเกิดขึ้นภายหลังประธานาธิบดีไบเดนขู่จะดำเนินมาตรการลงโทษเศรษฐกิจต่อรัสเซียอย่างเฉียบขาดหากรัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครน หลังการเสริมกำลังทหารกว่า 1 แสนนายของกองทัพรัสเซียประชิดชายแดนยูเครนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสร้างความหวาดผวาให้กับทางการยูเครนและสหภาพยุโรป หรืออียู
ด้านการหารือที่เกิดขึ้น ฝ่ายประธานาธิบดีปูตินเป็นผู้ขอหารือกับผู้นำสหรัฐและนับเป็นการพูดคุยครั้งที่สองแล้วในรอบหนึ่งเดือน โดยรอบล่าสุดใช้เวลาประมาณ 50 นาที ซึ่งประธานาธิบดีปูตินยังย้ำถึงข้อเรียกร้องให้องค์การป้องกันสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ยุติการนำชาติยุโรปตะวันออกเข้าร่วมนาโต และยุติการแผ่นขยายกำลังทหารมาประชิดชายแดนรัสเซีย
หลังการหารือดังกล่าว นายยูริ อูชาคอฟ ที่ปรึกษานโยบายการต่างประเทศของผู้นำรัสเซีย เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีปูตินมีความพอใจต่อโอกาสที่ได้หารือกันกับผู้นำสหรัฐเนื่องจากเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจต่อกันและปูทางไปสู่เวทีการเจรจาด้านความมั่นคงอื่นที่กำลังจะตามมาในปีหน้า
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาว ระบุถึงบรรยากาศของการหารือว่าดำเนินไปอย่างตรงไปตรงมาและเต็มไปด้วยความจริงจังของทั้งสองฝ่าย ส่วนเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า ประธานาธิบดีไบเดนแจ้งต่อทางผู้นำรัสเซียอย่างชัดเจนว่า พัฒนาการของการหารือจะเดินหน้าไปได้จะต้องเกิดขึ้นภายใต้การพูดคุยกันเพื่อถอดชนวนความตึงเครียดเท่านั้น
“ท่านประธานาธิบดีไบเดนย้ำกับผู้นำรัสเซีย ว่าทางการสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะดำเนินการตอบโต้รัสเซียอย่างเฉียบขาดหากรัสเซียรุกรานยูเครน” ซากี ระบุ
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดนและปูตินมีกำหนดจะพบปะพูดคุยกันอีกครั้งที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนม.ค.นี้ ซึ่งทางประธานาธิบดีไบเดนย้ำเตือนให้ทางการรัสเซียหาทางออกด้วยวิธีการทางการทูต ส่วนประธานาธิบดีปูตินเคยแสดงความหวังไว้ว่า รัสเซียและสหรัฐจะสามารถหาทางออกร่วมกันได้บนพื้นฐานของการให้เกียรติและผลประโยชน์แห่งชาติของทั้งสองฝ่าย