บทบรรณาธิการ – ต่อจากนาบอน
การเคลื่อนไหวของกลุ่ม SAVE นาบอน ที่ เดินทางจากจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้ามาประท้วงใกล้พื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ได้บทสรุปเป็นหนังสือที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี
สาระสำคัญของหนังสือดังกล่าวคือแต่งตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อทำหน้าที่จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA สำหรับพิจารณาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด
หลังจากชาวบ้านเสนอความเห็นและความต้องการว่าโรงไฟฟ้าไม่ควรอยู่กลางชุมชน ที่มีบ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล แหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนในระยะยาว
ความวิตกกังวลนี้คล้ายกับกลุ่มชาวจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา ที่เคลื่อนไหวคล้ายกันนี้มาก่อน จนได้มติครม.ให้ จัดตั้งคณะกรรมการใหม่ พร้อมทำ SEA ที่ชาวบ้านเข้าร่วมอย่างแท้จริง
ลักษณะการเคลื่อนไหวของชาวบ้านทั้งจะนะ และนาบอน บ่งบอกว่าน่าจะมีชาวบ้านชุมชนอื่นๆ อีกที่ต้องการทางออกที่คล้ายกัน และความเข้าใจที่ตรงกัน
โดยเฉพาะการดำเนินการของรัฐและหน่วยราชการต้องตรงไปตรงมา เป็นไปตามกฎหมาย การเปิดรับฟังต้องทำให้ได้ยินเสียงชาวบ้าน ไม่ใช่เพียงทำไปเหมือนพิธีกรรมที่กรุยทางไปสู่การเดินหน้าโครงการที่รัฐส่วนกลางปรารถนา
จากนี้ไปการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม SEA ไม่เพียงจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินโครงการ ยังแสดงถึงการทำงานของรัฐและหน่วยราชการด้วยว่ามีความจริงใจและเป็นประชาธิปไตยหรือไม่
ให้ความสำคัญกับชาวบ้านมากน้อยเพียงใด
สําหรับกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น หลังจากได้มติครม.เป็นคำสัญญาแล้ว ชาวบ้านยังคงเคลื่อนไหวติดตามกระบวนการ SEA ให้เข้าถึงชุมชน
มีข้อเรียกร้องจากชาวบ้านว่า SEA ต้องหลุดพ้นจากอำนาจรัฐและทุน เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจด้วยข้อมูลที่รอบด้าน ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นธรรม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เคารพสิทธิชุมชน ต้องตั้งอยู่บนหลักการ มีส่วนร่วม อย่างแท้จริงในทุกระดับ
ส่วนชุมชนนาบอนเรียกร้องให้แนวทางคล้ายกัน
จึงเชื่อได้ว่าต่อจากชุมชนนาบอนแล้วจะยังมีชาวบ้านอีกหลายกลุ่มที่ต้องการความเป็นธรรม