คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
กระแส วิพากษ์
ปม “#พี่ตูนวิ่งทำไม”
กระแส ความคิด
อุบัติแห่ง #พี่ตูนวิ่งทำไม สะท้อนถึง “คุณภาพ”ใหม่ในการวิพากษ์ของสังคมไทย
หากดูเผินๆ คล้ายกับว่าจะเป็นปฏิกิริยาต่อการเคลื่อนไหวก้าวแต่ละก้าวของนักร้องดังอย่าง พี่ตูน บอดี้สแลม
เหมือนกับจะเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” แต่ความจริงมิใช่
จริงอยู่ บทบาทของ พี่ตูน บอดี้สแลม ดำเนินไปอย่างเป็นส่วนตัว อาศัยชื่อเสียงจากการเป็น นักร้องมาเป็นพื้นฐาน แต่หากมองไปลึกๆก็จะสัมผัสได้ในเครือข่าย
เครือข่ายอันอยู่ข้างหลังของ “ก้าวแต่ละก้าว”
หากติดตามบทบาทปฏิบัติการวิ่งของ พี่ตูน บอดี้สแลม จะสัมผัสได้ใน “เครือข่าย”
1 เป็นเครือข่ายของนักร้อง ศิลปินและดารา นักแสดง 1 การหนุนเสริมเข้ามาของบริษัท ห้างร้านอันเป็นเครือข่ายของทุน
และ 1 ที่ขาดไม่ได้คือการเข้ามาของ “อำนาจรัฐ”
เพราะว่าการระดมเงินทุนของ พี่ตูน บอดี้ สแลม เป็นการช่วยเหลือต่อรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่ยากไร้ 109 คน
ทั้งหมดนี้คือ โครงสร้างใหญ่แห่ง“สังคม สงเคราะห์”
กระบวนการของ “นักบุญทุนคนอื่น” ในแบบ พี่ตูน บอดี้สแลม คือแนวทางของ “รัฐ”
รัฐไทยยึดหลักการ “สังคมสงเคราะห์” ตั้งแต่ตั้งกรมประชาสงเคราะห์และแยกตัวออกมาอยู่ในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว
เพียงแต่ระยะหลังแนวทาง “สังคมสงเคราะห์” เริ่มถูก “วิพากษ์”
ไม่ว่าจะจากพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะจากคณะก้าวหน้า ไม่ว่าจะจากพรรคก้าวไกล จึงได้กลายเป็นปฏิกิริยาที่เริ่มขยายตัวเป็นกระแสต้านในสังคม
กลายเป็นรากฐานแห่งคำถาม #พี่ตูนวิ่งทำไม
ไม่ว่าในที่สุด พี่ตูน บอดี้สแลม จะเดินหน้า “ก้าวแต่ละก้าว” ไปอย่างไร
กระนั้น การดำรงอยู่ของ “ก้าวแต่ละก้าว”ก็ ถูกแสงแห่งสปอตไลต์ของการวิพากษ์วิจารณ์ หนักหน่วง รุนแรงและลึกซึ้งเป็นลำดับ
นี่คือผลจากปฏิบัติการ “ปักธง” ในทาง “ความคิด” อย่างเป็นรูปธรรม