จีนกำลังเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกองทัพขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความรุดหน้าด้านเทคโนโลยีขีปนาวุธ อาวุธนิวเคลียร์ และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของจีนกำลังสร้างความหวั่นวิตกอย่างมากให้แก่บรรดาผู้สังเกตการณ์ชาติตะวันตก ซึ่งเชื่อว่ากำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการถ่วงดุลอำนาจด้านการทหารของโลก
- โลกต้องกังวลไหมหลังจีนทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง
- นักวิทยาศาสตร์อเมริกันระบุจีนกำลังสร้างโรงเก็บขีปนาวุธนิวเคลียร์ในซินเจียง
- ข้อถกเถียงต่อความเชื่อว่าจีนกำลังสร้าง “ซูเปอร์ทหาร” แข่งกับสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้สั่งการให้ปฏิรูปกองทัพให้ก้าวล้ำนำสมัยภายในปี 2035 โดยกล่าวว่า จีนจะต้องผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางการทหารของโลก ที่มีศักยภาพ “ในการสู้รบและชนะสงคราม” ให้ได้ภายในปี 2049
แม้นี่จะเป็นคำปฏิญาณอันใหญ่หลวง แต่จีนก็กำลังมุ่งมั่นไปตามเป้าหมายนี้
ทุ่มงบมหาศาล
บรรดาผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศมักวิจารณ์จีนเรื่อง “ไม่มีความโปร่งใส” ในการเปิดเผยว่าใช้งบประมาณกลาโหมไปมากเพียงใด รวมถึงมีการรายงานตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกัน
แม้รัฐบาลจีนจะเผยแพร่ข้อมูลเรื่องงบประมาณกลาโหม แต่ชาติตะวันตกประเมินว่า ตัวเลขจริงของงบประมาณกลาโหมที่จีนใช้มักสูงกว่าตัวเลขที่เปิดเผยออกมามาก
เชื่อกันว่า ปัจจุบันจีนใช้จ่ายด้านกลาโหมมากกว่าทุกประเทศในโลก ยกเว้นเพียงสหรัฐฯ
ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (Strategic and International Studies) ในกรุงวอชิงตัน ดี ซี ระบุว่า งบประมาณด้านกลาโหมที่เพิ่มขึ้นของจีนสูงแซงหน้าตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ทศวรรษแล้ว
เพิ่มการสะสมนิวเคลียร์
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประเมินเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาว่า จีนจะมีการสะสมอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในช่วงสิ้นทศวรรษนี้ โดยระบุว่าจีนน่าจะตั้งเป้าครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ให้ได้อย่างน้อย 1,000 หัวภายในปี 2030
สื่อทางการจีนออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหานี้ว่าเป็น “การคาดการณ์ที่บ้าคลั่งและลำเอียง” พร้อมยืนยันว่า ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ใน “ขั้นต่ำ”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) ในสวีเดน ซึ่งจัดทำและเผยแพร่รายงานการประเมินประจำปีเรื่องการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก ระบุว่า จีนมีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แม้อาวุธนิวเคลียร์ที่จีนครอบครองอยู่ยังถือว่าห่างไกลจากสหรัฐฯ ที่มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ถึง 5,550 หัว แต่การเร่งสะสมของจีนก็ถูกมองเป็นภัยคุกคามสำหรับชาติมหาอำนาจตะวันตก
งบประมาณด้านการทหารของจีนเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
อนาคตเร็วเหนือเสียง
ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic missile) เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าเสียง 5 เท่า แม้มันอาจไม่เร็วเท่าขีปนาวุธข้ามทวีป แต่ก็ยากที่จะตรวจจับได้ในระหว่างการบิน และอาจเล็ดลอดจากระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศบางชนิดได้
ดร. เซโน ลีโอนี จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า “จีนรู้ดีว่าพวกเขายังตามหลังอีกมาก ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามกระโดดแซงหน้าชาติมหาอำนาจอื่น ๆ”
“การพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง คือหนึ่งในหนทางที่จะทำเช่นนั้น” เขาอธิบาย
ที่ผ่านมา จีนได้ปฏิเสธเรื่องการทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญชาติตะวันตกเชื่อว่ามีการทดสอบขีปนาวุธ 2 ครั้งเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า กองทัพจีนกำลังจะประจำการอาวุธชนิดนี้
อย่างไรก็ตามยังไม่ชัดเจนว่าจีนกำลังพัฒนาขีปนาวุธระบบใด จาก 2 ชนิดนี้ คือ
- ขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียงที่อยู่ในชั้นบรรยากาศโลก
- ระบบยิงขีปนาวุธจากวงโคจร (Fractional Orbital Bombardment System หรือ FOBS) ซึ่งจะบินอยู่ในวงโคจรระดับต่ำของโลก ก่อนที่จะเพิ่มความเร็วมุ่งสู่เป้าหมาย
อาจเป็นไปได้ที่จีนอาจประสบความสำเร็จในการรวมเอาเทคโนโลยีทั้งสองระบบเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือการยิงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงมาจากยานอวกาศ FOBS
ดร. ลีโอนี ระบุว่า แม้ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงจะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ที่จะพลิกโฉมหน้าการต่อสู้ แต่ก็ทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินต้องเผชิญความยากลำบากเป็นพิเศษในการป้องกันตัวเองจากการโจมตี
อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า เจ้าหน้าที่ชาติตะวันตกอาจแสดงความวิตกเกินจริงเกี่ยวกับขีปนาวุธชนิดนี้ของจีน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขอเพิ่มงบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการทหาร
“ภัยคุกคามมีอยู่จริง แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่านี่กำลังถูกขยายความจนเกินจริง”
ปัญญาประดิษฐ์ และการโจมตีไซเบอร์
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า ปัจจุบันจีนกำลังมุ่งพัฒนาการทำ “สงครามอัจฉริยะ” (intelligentised warfare) หรือการรบแห่งโลกอนาคต โดยใช้เทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
สถาบันวิทยาศาสตร์การทหารของจีนได้รับมอบหมายให้บรรลุเป้าหมายนี้ ผ่านความร่วมมือระหว่างกองทัพกับบริษัทเทคโนโลยีด้านการทหารของเอกชน
มีรายงานว่า จีนอาจเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีเอไอกับหุ่นยนต์ทางการทหาร และระบบนำทางขีปนาวุธ ตลอดจนอากาศยาน และเรือไร้คนขับ
การประเมินของผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันระบุว่า จีนได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ต่อต่างชาติแล้ว
เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวหาว่าจีนได้โจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ที่มุ่งเป้าต่อเซิร์ฟเวอร์บริการ Microsoft Exchange ของบริษัทไมโครซอฟท์
เชื่อกันว่าการโจมตีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อองค์กรทั่วโลกอย่างน้อย 30,000 องค์กร โดยมีเป้าหมายในการโจรกรรมข้อมูล ซึ่งรวมถึงการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา
กองทัพเรือใหญ่ที่สุด แต่ไม่ได้ทรงอิทธิพลที่สุด
แม้จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในการมีกองทัพเรือขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การประเมินเช่นนี้ไม่อาจบ่งชี้ถึงขีดความสามารถในการรบได้เสมอไป
ปัจจุบันสหรัฐฯ ถือว่าเป็นชาติที่มีขีดความสามารถด้านการทหารเรือมากที่สุดในโลก โดยมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 11 ลำ ในขณะที่จีนมีอยู่เพียง 2 ลำ นอกจากนี้ยังมีจำนวนเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ เรือลาดตระเวน และเรือพิฆาตมากกว่า
แต่จีนก็ตั้งเป้าจะขยายกองทัพเรือให้ยิ่งใหญ่กว่า เพื่อต่อกรกับการยั่วยุทางทะเลของสหรัฐฯ
กองทัพเรือสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2020 – 2040 กองทัพเรือจีนจะมีเรือเพิ่มขึ้นเกือบ 40%
อนาคตที่ไม่แน่นอน
จีนจะเปลี่ยนจุดยืนจากการไม่เผชิญหน้า ไปเป็นการแสดงท่าทีข่มขู่และคุกคามมากขึ้นหรือไม่
ดร. ลีโอนี ระบุว่า สำหรับตอนนี้ แนวทางของจีนยังคงเป็น “การชนะโดยไม่ต้องสู้รบ” แต่เขาก็คิดว่าจีนอาจเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ในอนาคต
“การเป็นมหาอำนาจทางกองทัพเรือที่ทันสมัย อาจเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญ” เขากล่าว
แต่ พันเอก โจว โป อดีตนายทหารบกของกองทัพจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่มหาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า ความหวั่นวิตกของชาติตะวันตกนั้นเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ และไม่มีมูลความจริง
เขาชี้ว่า จีนไม่ได้มีเป้าหมายในการเป็น “ผู้พิทักษ์ความสงบสุขของโลก” แบบสหรัฐฯ และแม้จีนจะมีความแข็งแกร่งทางการทหารมากกว่าในอนาคต แต่ก็จะคงนโยบายพื้นฐานเอาไว้ตามเดิม
จีนไม่ได้ทำสงครามมาตั้งแต่ปี 1979 ซึ่งเป็นตอนที่รบกับเวียดนาม ดังนั้นจึงยังไม่เคยมีการทดสอบขีดความสามารถด้านการทหารต่าง ๆ ในสนามรบจริง
ซึ่งทั้งชาติตะวันตก และจีนต่างหวังว่ามันจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป
…………….
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว